"ภัทรพงษ์"สส.ปชน.คนแรก อภิปรายฯ ปัญหา"PM2.5" โดยไม่มีใครประท้วงเลย

"ภัทรพงษ์"สส.ปชน.คนแรก อภิปรายฯ ปัญหา"PM2.5" โดยไม่มีใครประท้วงเลย

40124 มี.ค. 68 17:47   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน เป็น สส.คนแรกของพรรคประชาชน ที่อภิปรายเรื่อง PM 2.5 โดยไม่มีใครประท้วงเลย

(24มี.ค.68) นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเด็นฝุ่น PM2.5 โดยพรรคประชาชน ได้สรุปเนื้อหา ดังนี้ นายกฯ จากดีลแลกประเทศ ปกป้องผลประโยชน์คนในครอบครัว ไม่ปกป้องชีวิตประชาชน ปี 2567 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่ง “ภัยพิบัติ” ประเทศไทยต้องเจอน้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง ฝุ่นพิษรุนแรง แต่ภัยพิบัติหนักที่สุด คือการที่ประเทศไทยต้องมีนายกรัฐมนตรีชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ที่เข้ามาบริหารประเทศ ทั้งที่ขาดความรู้ความสามารถ ขาดความเป็นผู้นำ ขาดความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา เข้ามาเพียงเพราะผลประโยชน์ของบิดาและคนในครอบครัว


สำหรับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 แพทองธารเคยพูดเองว่า “ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ รู้อยู่แล้วว่าฝุ่นจะมา ทำการบ้านตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง” Phattarapong Leelaphat - ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 (หางดง สันป่าตอง) พรรคประชาชน จึงชี้ให้เห็นว่า “การบ้าน” ที่นายกฯ บอกว่าทำนั้น เดิมพันด้วยปอดและชีวิตของประชาชน แต่นายกฯ กลับทำอย่างชุ่ยๆ ไม่ได้ถอดบทเรียนจากอดีตรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แม้แต่น้อย 


วิบัติที่ 1 นายกฯ โกหกจนเคยชิน 


ก่อนหน้านี้รัฐบาลโฆษณาประชาชนว่าแก้ปัญหา PM2.5 ที่ต้นตอ ลดพื้นที่เผาไหม้ได้ชัดเจน แต่ความจริงพื้นที่เผาไหม้ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 8 ล้านไร่ รัฐบาลสอบตกจากตัวชี้วัดที่ตั้งไว้แทบทั้งหมด ล่าสุดเคลมว่าปีนี้ 2568 ค่าฝุ่น PM2.5 ทั้งประเทศลดลงจากปีที่แล้ว 16 เปอร์เซ็นต์ นี่เราอยู่คนละโลกกับนายกฯ หรือเปล่า เพราะนับจาก 1 มกราคมถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ค่า PM2.5 ทั่วประเทศ เพิ่มจากปีที่แล้ว 6% และถ้านับเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 20% เคลมว่า​ ลดปริมาณอ้อยเผาได้ปริมาณมาก​ แต่ไม่เคยตรวจสอบการเผาไหม้ในพื้นที่ปลูกอ้อย​ ว่าที่แท้จริงแล้ว​ มันแทบไม่ได้ลดลงเลย

วิบัติที่ 2 นายกฯ ขายผ้าเอาหน้ารอด 


ช่วงเวลาที่ต้องทำงานหนักที่สุดในการแก้ฝุ่น PM2.5 คือช่วงก่อนเกิดปัญหา รัฐบาลควรเตรียมมาตรการเชิงสนับสนุน ออกกฎกระทรวงมาบังคับโทษต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหา ซึ่งภัทรพงษ์เคยอภิปรายนำเสนออย่างละเอียดในการแถลงนโยบายรัฐบาลแพทองธารเมื่อเดือนกันยายน 2567 ว่าแต่ละเดือนหน่วยงานต่างๆ ควรทำอะไรบ้าง แต่แพทองธารกลับไม่ทำอะไรเลย 


กระทั่ง 29 ตุลาคม 2567 นายกฯ เพิ่งออกคำสั่ง 3 ข้ออย่างลวกๆ (1) ตรวจฝุ่นจากรถอย่างเข้มงวด (2) ไม่รับสินค้าเกษตรที่เผาทั้งจากในและนอกประเทศ (3) บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับโรงงานอุตสาหกรรม และต่อมา 3 ธันวาคม 2567นายกฯ ก็ออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเดียวกันนี้ สั่งไปแล้วก็สั่งอีก สะท้อนว่าสิ่งที่เคยสั่ง ไม่มีความคืบหน้า  


กลางเดือนธันวาคม 2567 สิ่งที่หลายคนรอคอยก็ผ่านมติ ครม. คือประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดภาษีฉบับปี 2568 แต่ปรากฏว่าเนื้อหาเหมือนเดิม ลอกของปีก่อนๆ มาทั้งหมด ไม่มีเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการเผา ไม่ได้ระบุพิกัดพื้นที่แปลงเพาะปลูก


เราจบปี 2567 โดยไม่มีมาตรการที่จับต้องได้จากรัฐบาลแพทองธารสักอย่างเดียว 


  • เสียโอกาสทองในการออกมาตรฐานบังคับสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากเผา เพื่อควบคุมสินค้าเกษตรในประเทศ รวมถึงสินค้าเกษตรที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ 
  • เสียโอกาสในการออกหลักเกณฑ์การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของบริษัทนายทุนขนาดใหญ่ 
  • พลาดเวลาสำคัญในการออกมาตรการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้ทำเกษตรแบบไม่เผา เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนต้นทุนได้ โดยไม่กระทบปากท้อง 
  • พลาดโอกาสในการเตรียมการรับมือเรื่องการเผาภาคการเกษตรและไฟป่าในช่วงเดือนมกราคม ทำให้กลางเดือนมกราคม มีการเผาภาคเกษตรอย่างหนัก


ในวันที่ค่า PM2.5 ในกรุงเทพฯ รุนแรงที่สุด นายกฯ อยู่ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อโดนประชาชนตำหนิอย่างหนัก จึงเรียกประชุมทางออนไลน์และออกข้อสั่งการ แต่สิ่งที่ออกมาก็เหมือนเดิม มีเพิ่มเพียง 1 ประเด็นคือการจัดทำห้องปลอดฝุ่นและมุ้งสู้ฝุ่น กระทรวงสาธารณสุขตั้งเรื่องของบกลาง แต่สุดท้ายไม่ได้รับอนุมัติ เพราะมีงบทำมุ้งลดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบางผู้ป่วยติดเตียงได้แค่ 1,000 ชุดทั่วประเทศเท่านั้น ทั้งที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นเป็นล้านคน


งบประมาณไฟป่า รัฐบาลตัดงบไป 2,400 ล้าน แล้วให้งบกลางไป 620 ล้าน แต่ยังกล้าโฆษณาว่าตัวเองกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแก้ PM2.5 ทั้งๆ ที่ตัดงบท้องถิ่นเป็นพันล้านทุกปี หนำซ้ำท้องถิ่นที่ได้งบยังโดนล็อกสเปก ซื้อได้เฉพาะสิ่งที่ส่วนกลางกำหนด เช่นไม้ตบไฟ คราด เครื่องเป่าลม ถังฉีดน้ำ ซื้อโดรนตรวจจับความร้อนไม่ได้ จัดซื้อเทคโนโลยีระบบฐานข้อมูลทำวอร์รูมก็ไม่ได้ 


ทุกวันนี้ไฟป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ เทคโนโลยีช่วยเหลือก็ไม่มี เท่ากับปล่อยให้คนดับไฟเสี่ยงชีวิตจากการละเลยปัญหาของรัฐบาล


ยังไม่มีการใช้กลไกของกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าข้าวโพดที่มีที่มาจากการเผาตามข้อยกเว้นขององค์การการค้าโลก (WTO) แม้ภัทรพงษ์เคยลงรายละเอียดตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเรื่องนี้ทำได้ทันที แต่แพทองธารยังปล่อยให้นายทุนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มาจากการเผา ตอนนี้ประเทศไทยจะตามนายทุนไม่ทันอีก เพราะเขาไปเปิดโรงงานรับซื้อข้าวโพดเผาที่ประเทศเพื่อนบ้านเองแล้ว


“ถ้าเรายังมีนายกฯ ที่ทำงานไม่เป็น เชื่องช้า ให้นายทุนจูงจมูกแบบนี้ จะไม่มีทางแก้ปัญหาได้ นายกฯ ออกคำสั่ง แต่รัฐมนตรีไม่เห็นหัว ข้าราชการก็ไม่สนใจ หากเป็นแบบนี้แค่หน่วยงานเดียว คงถือเป็นความผิดหน่วยงานนั้น แต่นี่เป็นทุกหน่วยงาน แพทองธารต้องย้อนกลับมามองตัวเองได้แล้ว ที่ผ่านมาทำงานแบบไหน ทำไมสั่งการไปแล้วไม่มีใครทำ”


วิบัติที่ 3 นายกฯ หุ่นเชิด 


เรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ต้องพูดถึงฝุ่นพิษที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แพทองธารเคยบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่วาระแห่งชาติ แต่เป็น “วาระแห่งอาเซียน” แต่พอไปดูเวทีที่นายกฯ ร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็น ประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเจรจาข้อตกลง วางเป้าหมายร่วมกันให้ชัดเจนว่าแต่ละประเทศจะดำเนินการอย่างไร 


  • มีการลงมติรับปฏิญญาไปถึง 18 ฉบับ แต่ไม่มีเรื่องฝุ่นแม้แต่ฉบับเดียว 
  • ต่อมาไปประชุมผู้นำ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง แต่ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ที่มีแก้ไขเพิ่มเติมในวันนั้น ก็ไม่มีเรื่องฝุ่นอีก 


แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ที่มีปัญหาการเผาแทบทุกพื้นที่ บิดานายกฯ มีความสัมพันธ์ส่วนตัวอันดีกับผู้นำของเขา เราใช้เงินภาษีของคนไทยปล่อยกู้ให้เขาไปทำถนน 491.5 ล้านบาท ซึ่งแทบจะเรียกว่าให้เปล่า 7 ปีแรกปลอดหนี้ ผ่อนยาวๆ ด้วยดอกเบี้ยต่ำ แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถใช้เรื่องนี้เพื่อต่อรองให้กัมพูชาแก้ปัญหาการเผา สุดท้ายกลายเป็นเราให้เขากู้เงินไปทำถนน แล้วเขาก็ใช้ถนนเส้นนี้ ขนสินค้าเกษตรที่มาจากการเผา เข้าประเทศไทยอีกที


วิบัติที่ 4 นายกฯ ไร้ภาวะผู้นำ 


ตัวอย่างชัด ๆ คือกรณีนายกฯ สั่งการกองทัพให้ป้องกันไฟป่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกองทัพยังซ้อมยิงปืนใหญ่ ซ้อมยิงลูกระเบิด ในพื้นที่และช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า 


วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา กองทัพซ้อมยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนจริง รองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม พูดเองว่าเกิดการไหม้ แต่ไหม้ไม่เยอะ ได้ทำแนวกันไฟไว้แล้ว และพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ของกองทัพ ไม่ได้เป็นป่าขนาดนั้น เหมาะสมกับการซ้อมยิงปืนใหญ่ 


แต่ข้อเท็จจริงสวนทางทั้งหมด 


  • พื้นที่ที่กระสุนตกเป็นป่าสงวน อยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ กองทัพไม่ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ พอจะยิงก็ออกหนังสือแจ้งว่าจะยิง ง่ายๆ แค่นี้เลย 
  • เมื่อดูภาพถ่ายทางดาวเทียมในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนการซ้อมยิง จะเห็นว่ามีความเขียวขจี ซูมเข้าไปเป็นป่าแน่นๆ นี่หรือที่บอกว่าเหมาะสมกับการซ้อมยิงปืนใหญ่?
  • วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ ทุกอย่างชี้ไปทางเดียวกันว่าพื้นที่นี้มีความเสี่ยงสูงมาก ค่าดัชนีการติดไฟอยู่ในเกณฑ์เชื้อเพลิงติดไฟได้ง่ายมาก ค่าดัชนีความรุนแรงของไฟอยู่ในเกณฑ์เมื่อเกิดไฟจะมีความรุนแรงและขยายตัวเร็วมาก แต่กองทัพก็ยังเลือกที่จะซ้อมยิงปืนใหญ่ โดยไม่สนใจปัจจัยเหล่านี้


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ ภาพถ่ายพื้นที่เผาไหม้จากดาวเทียม Sentinel เห็นชัดเจนว่าไฟขยายออกจากพื้นที่กระสุนตก และจากไฟป่าครั้งนี้ ทำให้ค่า PM2.5 ในอำเภอเมืองพะเยา พุ่งทะลุ 200AQI ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ 


เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่จังหวัดเดียว พื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็ต้องเจอลักษณะเดียวกัน แตกต่างตรงที่พื้นที่กระสุนตกของอำเภอจอมทองเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ และสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชน นายอำเภอจอมทองเคยส่งหนังสือไปยังผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ตั้งแต่ปลายปี 2566 ว่าขอให้พิจารณาเปลี่ยนพื้นที่ซ้อมยิงเพราะประชาชนได้รับผลกระทบ บ้านเรือนเสียหายและทำให้ไฟไหม้ป่า


“ถ้านี่เป็นบ้านคุณแพทองธาร ลูกๆ วิ่งเล่นอยู่ต้องเจอแบบนี้ คุณแพทองธารในฐานะแม่ของลูก จะรู้สึกยังไง” 


“รัฐบาลรับรู้ แต่ยังปล่อยให้กองทัพทำ แถมแก้ตัวให้อีก นายกฯ ลืมไปแล้วหรือว่าเคยสั่งการให้กองทัพป้องกันไฟป่า PM2.5 แค่สั่งไม่ให้เกิดไฟป่า กองทัพยังไม่ฟัง ถ้าเรื่องแค่นี้ยังเกรงใจ ไม่ต้องพูดเรื่องจะปฏิรูป ไม่ต้องพูดเรื่องเอาทหารมาอยู่ใต้ประชาชน” 


ทั้งหมดคือความวิบัติ จากการที่ประเทศไทยมีนายกฯ ชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ที่มาเป็นนายกฯ ได้ด้วย “ดีลแลกประเทศ” เพื่อปกป้องผลประโยชน์คนในครอบครัว ไม่มีประชาชนในสมการ


“ผมถามตรงๆ เวลาที่คุณแพทองธารเห็นคนป่วยโรคทางเดินหายใจ คนที่เป็นมะเร็งปอดทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่ เห็นเด็กมีเลือดกำเดาไหลเพราะ PM 2.5 คุณรู้สึกยังไง เคยมองย้อนกลับมาดูตัวเองบ้างไหม ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ทำอะไรเพื่อปกป้องพวกเขาบ้าง” นายภัทรพงษ์ ระบุ


ฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาที่ใครจะแก้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ภายใน 1-2 ปี แต่จะทำได้ดีกว่านี้แน่นอนถ้ามีผู้นำที่ใส่ใจปัญหา เตรียมการรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดในวันนี้ คือ “แพทองธาร ชินวัตร” ต้องไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป


ที่มา : พรรคประชาชน


ข่าวเวิร์คพอยท์23


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat