“สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ปธ.สมาพันธ์ต้านแชร์ลูกโซ่ สู่ผู้ต้องหาฟอกเงิน

“สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ปธ.สมาพันธ์ต้านแชร์ลูกโซ่ สู่ผู้ต้องหาฟอกเงิน

24125 พ.ย. 67 14:23   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

เปิดประวัติ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่ โดดเข้าสู่แวดวงการเมืองภายใต้สังกัดพรรคพลังประชารัฐ สู่เรื่องอื้อฉาวกับคลิปเสียงเรียกเงิน “บอสพอล” ที่เจ้าตัวปฏิเสธไม่รู้เห็น ก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาคดีสมทบกันฟอกเงิน

“สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” หรือ “จ๊อบ” เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2526 ก่อนหน้านที่เจ้าตัวจะเข้าสู่แวดวงการเมือง เคยได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2557


จนกระทั่งช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 นายสามารถได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ มีบทบาทช่วยเหลือเรื่องการหาเสียงของพรรค เป็นกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ และอนุกรรมการติดตามการหาเสียงพรรคพลังประชารัฐ และหลังการจัดตั้งรัฐบาล นายสามารถก็ได้เป็นผู้อำนวยการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกลุ่มสามมิตร ที่นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งที่ยังอยู่ใต้ชายคาพรรคพลังประชารัฐ


นอกจากนี้เจ้าตัวยังเคยมีบทบาทในการผลักดันให้แก้กฎหมายแชร์ลูกโซ่ เพิ่มโทษกับผู้กระทำความผิด จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ และเดินสายเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อ


และในปี 2563 ช่วงที่การเมืองร้อนแรง มีกลุ่มเยาวชนออกมารวมตัวประท้วงกันหลายครั้ง นายสามารถ ที่ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมเคยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ทุกคนล้วนอยากช่วยประเทศ แต่ไม่มีใครอยากช่วยแม่ล้างจาน..” ทำให้ชื่อของ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไปทั่วสังคมออนไลน์


กระทั่งปี 2564 นายสามารถถูกกล่าวหาว่าถูกตัดสิทธิ์นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าเขานั้นลงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาปริญญาเอก ระดับกลาง ในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เข้าเรียนและเข้าสอบด้วยตัวเอง จนเป็นเหตุให้พรรคพลังประชารัฐในตอนนั้นมีมติขับนายสามารถให้พ้นจากสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 รวมทั้งปลดออกจากตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี, ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ, คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล, คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ และห้ามไม่ให้ใช้ตราเครื่องหมายพรรค


ก่อนที่ต่อมาจะมีคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 3437/2564 ลงวันที่28ตุลาคม2564 ลงนามโดย ผศ.เตมีย์ ระเบียบโลก รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ประธานกรรมการสอบวินัยนักศึกษา เรื่องการแต่งตั้งกรรมการสอบวินัยนักศึกษา ได้พิจารณาและรายงานผลการสอบวินัยนักศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบวินัยนักศึกษา เสนอให้ยุติเรื่อง ตามนัยมติที่ประชุม ก.บ.ม.ร.ครั้งที่14/2556 วาระที่ 5.53 วันที่ 8 มิถุนายน 2565


ซึ่งนายสามารถได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนเองถึงเรื่องดังกล่าวว่า คำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงทำให้ตัวเองไม่มีความผิดทางวินัยนักศึกษาและไม่ถูกตัดสิทธิ์ เพราะเรื่องสอบสวนไม่มีมูล จึงต้องยุติเรื่องขั้นตอนการตรวจสอบของมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ใช้เวลานาน เพราะคณะกรรมการสอบสวนได้สืบ หาข้อมูลจากหลายบุคคลสอบพยานหลายสิบปากเพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


จากนั้นในช่วงก่อนเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นายสามารถได้หวนกลับสู่สนามการเมือง ในฐานะรองโฆษกรัฐบาล ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และมีบทบาทในช่วงเลือกตั้ง รวมถึงมีบทบาทเป็นผู้ชักชวนนายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.บางบอน ลูกชายของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ให้ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ หลังจากมีประเด็นการไปให้กำลังใจ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี คู่แข่งของ นายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้สมัครฯ จากฝั่งพรรคเพื่อไทย


และช่วงปลายปี 2567 ชื่อของนายสามารถก็ปรากฏในหน้าสื่ออีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นกรณีของคลิปเสียงปริศนา ที่มีการชี้เป้าว่านายสามารถคือเจ้าของเสียง “นาย ส.” ที่คุยเรียกรับเงินจาก นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล แห่ง ดิ ไอคอน กรุ๊ป โดยที่ในคลิปนั้นมีวลีเด็ดว่า “ถ้าพอลให้พี่มากกว่านี้ พอลจะทำไรพอลดีดนิ้วได้เลย พอลเข้าใจใช่ไหม”


ซึ่งนายสามารถก็ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องว่าไม่ใช่คนในคลิปฉาวดังกล่าว และจะฟ้องกลับผู้ที่กล่าวหาทำให้เสื่อมเสียงชื่อเสียง แต่หลังจากนั้นไม่นาน นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้ตั้งโต๊ะแถลงว่าทางพรรคเสนอเรื่องถึง พล.อ.ประวิตร ให้ปลดนายสามารถ พ้นเก้าอี้ รองโฆษกพรรคมีผลทันที ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2567


และล่าสุด 25 พ.ย. 2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช พร้อมนางวิลาวัลย์ มารดา ข้อหาฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน โดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ สรุปรวบรวมพยานหลักฐาน จากเส้นทางเงิน มีการโอนเงินจาก นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล เข้ามาที่นายสามารถ


หลังออกหมายจับเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัว นางวิลาวัลย์ได้ที่บ้านพักในซอยพญานาค เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ส่วนนายสามารถนั้นถูกควบคุมตัวได้ที่วัดห้วยปลากั้ง จ.เชียงราย



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง