4 นาทีแห่งชีวิต ช่วยคนหัวใจวายเฉียบพลัน
4 นาทีแห่งชีวิต ช่วยคนหัวใจวายเฉียบพลัน

รู้หรือไม่ หากเกิดหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน มีเวลา 4 นาทีเพื่อช่วยชีวิตเบื้องต้น ถ้าทำถูกอาจรอดได้!
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)
จากกรณีการเสียชีวิตของ “อาฉี เสียงหล่อ” อดีตตลกชื่อดัง เจ้าของวลี “บัดซบจริงๆ เลย” ซึ่งทางญาติของอาฉีให้สัมภาษณว่าก่อนเสียชีวิต อาฉีมีอาการเจ็บ แน่นหน้าอก ก่อนล้มหมดสติไป ซึ่งคาดว่าเป็นอาการของหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลวฉียบพลัน
โรคหัวใจวาย/หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
เป็นภาวะที่หัวใจหยุดทำงาน หยุดบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ อย่างเฉียบพลัน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับเสียชีวิตประมาณ 6 คน ทุกๆ 1 ชั่วโมง
เว็บไซต์ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น ระบุว่า “หากพบคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เรามีเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR (ปั๊มหัวใจผายปอดกู้ชีพ) เพราะทันทีที่หัวใจหยุดทำงาน เลือดจะไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองทำให้สมองตายเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจน”
ทั้งนี้ โดยปกติก่อนจะเกิดอาการหัวใจวาย จะมีอาการเบื้องต้นเป็นการแจ้งเตือนให้ได้ระวังตัวเอาไว้ก่อน คือ
8 อาการก่อนเกิดหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว
- มีอาการแน่นหน้าอกตรงกลางจนต้องหยุดเดิน
- มีเหงื่อแตก ใจสั่น ใจหวิว
- หน้ามืดคล้ายจะวูบเป็นลม มึนศีรษะ เวียนศีรษะ
- หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สุด หายใจไม่เต็มปอด หายใจไม่ออก
- ปวดแน่นหน้าอกและร้าวไปไหล่ซ้าย สะบักซ้าย หรือร้าวขึ้นกราม
- เหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้
- ปวดจุกหรือแน่นใต้ลิ้นปี่ ปวดแสบปวดร้อนใต้ลิ้นปี่
- อึดอัดทับกลางอก เหมือนมีของหนักมาวางทับ
วิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตบไหล่พร้อมเรียกเพื่อปลุกให้ตื่น
- ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว รีบตะโกนขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)
- เช็กดูว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ โดยเอาหูแตะบริเวณจมูกของคนไข้ สังเกตที่หน้าอก หากหน้าอกคนไข้ไม่ขยับ หน้าท้องไม่กระเพื่อม แสดงว่าหยุดหายใจให้ปั๊มหัวใจทันที
- สำหรับการปั๊มหัวใจ ให้ปั๊ม 100-120 ครั้งต่อนาที ปั๊มต่อเนื่องนาน 2 นาที แล้วสลับคนปั๊ม ควรปั๊มไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัยจะมาถึง
- ในขณะเดียวกัน ถ้าในสถานที่เกิดเหตุมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ) ให้รีบนำมาช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
- ส่วนวิธีการใช้เครื่อง AED นั้น ให้กดปุ่มเปิดเครื่อง แปะแผ่นนำไฟฟ้าในตำแหน่งที่ลูกศรบอก จากนั้นทำตามที่เครื่องสั่งระหว่างรอทีมกู้ภัย ถ้าทำ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ถึง 10 เท่า
แต่อย่างไรก็ตาม หากพบผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติหรือมีปัญหาในการหายใจ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ควรรักษาสติ อย่าตื่นตระหนกจนไม่สามารถช่วยเหลือได้ ควรรีบให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมทั้งรีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพหรือโรงพยาบาลบริเวณใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด เพราะการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น
ที่มา: โรงพยาบาลนครธน, ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต