รวบตึง 6 ข่าวใหญ่การเมืองไทย 18 มิ.ย. 67

รวบตึง 6 ข่าวใหญ่การเมืองไทย 18 มิ.ย. 67

24018 มิ.ย. 67 17:41   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

วันเดียวมี 6 ประเด็นใหญ่การเมือง! รวบตึงให้ตามได้ไม่ตกข่าว ทั้งส่งฟ้อง “ทักษิณ, ยุบพรรค “ก้าวไกล”, ถอดถอน “เศรษฐา”, กติกาเลือก สว., ถกวาระที่ 1 “ร่าง พ.ร.บประชามติ”, และการผ่านร่างกฎหมายครั้งประวัติศาสตร์ กับ “สมรสเท่าเทียม”

ก่อนหน้านี้วันที่ 18 มิถุนายน 2567 อาจจะเป็นแค่วันจันทร์ธรรมดาๆ วันหนึ่ง ในสายตาหลายๆ คน แต่รู้หรือไม่ในวันนี้มีข่าวใหญ่ทางการเมืองเกิดขึ้นพร้อมกันถึง 6 ข่าว แถม 1 ในนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญในทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ข่าวเวิร์คพอยท์23 รวบรวมทุกข่าวสำคัญมาให้ได้อัปเดตที่นี่แล้ว



อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “ทักษิณ”

เริ่มต้นวัน(18 มิ.ย.67)ด้วยข่าวใหญ่ อัยการสูงสุด(อสส.)นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ส่งฟ้องศาลในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112, และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากกรณีการให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้ ที่ทาง อสส.ได้เคยมีคำสั่งฟ้องแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 แต่ในวันดังกล่าวนายทักษิณได้ขอเลื่อนการเข้าพบ เนื่องจากติดโควิด-19 จึงมีการเลื่อนมาเป็นวันนี้


ในช่วงสายศาลอาญาได้ประทับรับฟ้อง หมายเลขคดีดำที่ 1860/2567 หลังศาลรับฟ้องแล้ว ฝั่งของนายทักษิณได้ยื่นขอประกันตัวทันที ด้วยการวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท ก่อนที่ศาลจะอนุมัติการปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมเพิ่มเงื่อนไขห้ามเดินทางออกต่างประเทศ ยกเว้นจะได้รับอนุญาต

(อ่านต่อที่: ศาลประทับรับฟ้องคดี 112 “ทักษิณ” - อัยการสูงสุดยันไม่ 2 มาตรฐาน

คืนนี้นอน “จันทร์ส่องหล้า” ศาลให้ประกันตัว “ทักษิณ” วาง 5 แสน)


เลือก สว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?

ในวันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาและชี้ขาดคำร้องที่น่าสนใจหลายคดี 1 ในนั้นคือเรื่องของกติกาการเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 2 ที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตราที่ 36, 40, 41, และ 42 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดว่ามาตราดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ตามที่มีการยื่นร้องเรียนมา ข่าวนี้ถือว่าเป็นข่าวใหญ่สำหรับ กกต. ไฟเขียวให้จัดการเลือก สว. สนามสุดท้ายได้ต่อ ในวันที่ 26 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

(อ่านต่อที่: กกต.โล่ง ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด กติกาเลือก สว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ)


คดียุบพรรค “ก้าวไกล”

สำหรับความคืบหน้าของคดีที่ยืดเยื้อมานานอย่างคดียุบพรรคก้าวไกล หลังถูกนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคําร้องกรณีมีหลักฐาน อันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเข้าลักษณะกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)


ซึ่งปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญยังคงพิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยศาลฯ ได้มีคำสั่งให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน และกำหนดนัดพิจารณาต่อในวันที่ 9 ก.ค. 2567 และกำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ก.ค. 2567

(อ่านต่อที่: ศาลรัฐธรรมนูญนัด 3 ก.ค. พิจารณาต่อคดียุบพรรค “ก้าวไกล”)


40 สว.ร้องถอดถอน “เศรษฐา”

อีกหนึ่งกรณีที่มีการจับตากันมาก เพราะส่งผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาลโดยตรงก็คือกรณีที่กลุ่ม 40 สว. ได้รวมชื่อกันยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน จากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยทางกลุ่ม สว. มองว่าเป็นการแต่งตั้งโดยที่รู้อยู่แล้วว่านายพิชิตไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากเคยถูกจำคุก 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และมีพฤติกรรมไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ


โดยทางศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าให้นายเศรษฐาจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐาน ตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน และจะมีนัดพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 ก.ค. 2567

(อ่านต่อที่: ศาล รธน.ให้ "เศรษฐา" ส่งหลักฐานเพิ่ม)


วาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 4 ร่าง คือร่างที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ, ร่างที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ เป็นผู้เสนอ, ร่างที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับคณะ เป็นผู้เสนอ และร่างที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ


โดยทั้ง 4 ร่างนั้นมีประเด็นสำคัญเดียวกันคือการขอแก้ไขผลการออกเสียงประชามติที่ถือเป็นข้อยุติ จากเดิมที่มีเงื่อนไขกำหนดไว้ 2 ชั้น คือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ และ 2.ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ โดยทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการติดล็อก 2 ชั้นเช่นนี้ จะทำให้การทำประชามติให้ผ่านนั้นเป็นเรื่องที่ยากขึ้น หรืออาจจะทำไมได้เลย รวมถึงเปิดช่องให้มีการใช้เงื่อนไขนี้มาเป็นเครื่องมือในการ “ล่ม” ประชามติได้


หลังการอภิปราย เมื่อเปิดให้มีการลงคะแนนเสียง พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับทั้ง 4 ร่างมากถึง 450(+1) เสียง และมีผู้งดออกเสียง 1 เสียง ผ่านเข้าวาระที่ 2 ทั้ง 4 ฉบับ โดยที่ประชุมได้ยึดเอาร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นฉบับหลักในการพิจารณาแก้ไขวาระต่อไป


กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว

ข่าวใหญ่ข่าวสุดท้ายของวัน ที่ใหญ่ในระดับที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ จากความพยายามเรียกร้องให้มีกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันมานานหลายสิบปี ในวันนี้ ที่ประชุมวุฒิสภามีวาระสำคัญอย่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งผ่านการพิจารณาในชั้น สส. และคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา


หลังการอภิปรายในวาระที่ 2 และเข้าสู่การโหวตในวาระที่ 3 ปรากฏว่ามีผู้เสียบบัตรแสดงตน 152 คน และมีผลโหวตเห็นชอบ 130 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน และงดออกเสียง 18 คน ส่งผลให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่กระบวนการรอที่จะตราเป็นกฎหมายในทันที โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงในช่วงปลายปี 2567


การลงมติครั้งประวัติศาสตร์นี้ ทำให้ประเทศไทยกลายมาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล ที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน

(อ่านต่อที่: ทำเนียบฯ ร่วมฉลอง “สมรสเท่าเทียม” นายกฯ เตรียมวิดิโอคอนเฟอเรนซ์

“สมรสเท่าเทียม” ผ่านฉลุย ไทยขึ้นแท่นประเทศแรกในอาเซียน)

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง