“ศาลรัฐธรรมนูญ” องค์กรอิสระชี้ชะตาการเมืองไทย

“ศาลรัฐธรรมนูญ” องค์กรอิสระชี้ชะตาการเมืองไทย

123506 ส.ค. 67 20:12   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ย้อนดูที่มาและอำนาจหน้าที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ชี้ชะตาการเมืองไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ ก่อนถึงวันวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล-คุณสมบัตินายกฯ เศรษฐา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็น 1 ในองค์กรอิสระที่มีบทบาทเป็นอย่างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงและชี้ชะตาของการเมืองไทย จากความมุ่งหมายแรกเริ่มที่ตั้งใจจะให้เกิด “ตุลาการภิวัตน์” กระบวนการตรวจสอบอำนาจของฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) และนิติบัญญัติ(รัฐสภา) โดยให้อำนาจตุลาการเป็นผู้เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ก่อนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่การตรวจสอบถ่วงดุลแต่เป็นการใช้ทำ “นิติสงคราม” ที่มีเป้าหมายทางการเมืองต่างหาก


ก่อนที่จะถึงการอ่านคำวินิจฉัยคดีสำคัญ 2 คดี คือ คดีร้องยุบพรรคก้าวไกล จากการชูนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 7 ส.ค. 2567 และคดีคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จากปมการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ข่าวเวิร์คพอยท์23 จะชวนกลับไปที่มาและอำนาจหน้าที่ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” กันอีกสักครั้ง



“ศาลรัฐธรรมนูญ” คืออะไร


ศาลรัฐธรรมมนูญ เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพื่อขึ้นมาแทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป มีการจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2540 เป็นองค์กรที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ


ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและข้อขัดแย้งต่างๆ รวมถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยจะนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ซึ่งคำวินิจฉัยที่ออกมานั้น จะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร


นอกจากการวินิจฉัยข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย โดยประชาชนที่รู้สึกว่าตนเองนั้นถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครอง และความมั่นคงแห่งรัฐอีกด้วย


ขอบเขตของการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ครอบบคลุมตั้งแต่ร่างกฎหมาย ร่างระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไปจนถึงหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ และการวินิจฉัยคุณสมบัติของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ



“ศาลรัฐธรรมนูญ” มาจากไหน?


นับตั้งแต่มีการเริ่มจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญในปี 2540 เราอาจแบ่งศาลรัฐธรรมนูญออกเป็น 4 ยุค ตามการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540, 2549(ชั่วคราว), 2550, และ 2560 โดยแต่ละยุคจะมีที่มาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันไป


รัฐธรรมนูญ 2540 - กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้


  1. ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีการลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน


รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 - ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ระบุให้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีสมาชิกจำนวน 9 คน ขึ้นมาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปพร้อมการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยการรัฐประหาร ซึ่งคณะตุลาการดังกล่าวประกอบด้วย


  1. ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน
  2. ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน
  3. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน เป็นตุลาการ
  4. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยทีประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน เป็นตุลาการ


รัฐธรรมนูญ 2550 - กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้


  1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน


รัฐธรรมนูญ 2560 - กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้


  1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าขณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 3 คน
  2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการ ในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จํานวน 2 คน



“คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ชุดปัจจุบันมีใครบ้าง





สำหรับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน(สิงหาคม 2567) ประกอบด้วย


  1. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองการปกครอง เป็นอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  2. ปัญญา อุดชาชน อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  3. อุดม สิทธิวิรัชธรรม อดีตประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา
  4. วิรุฬห์ แสงเทียน อดีตประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
  5. จิรนิติ หะวานนท์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาและกรรมการกฤษฎีกา
  6. นภดล เทพพิทักษ์ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ
  7. บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
  8. อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการกฤษฎีกา
  9. สุเมธ รอยกุลเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด



ประมวลคดีสำคัญ “ศาลรัฐธรรมนูญ”


  • 30 พ.ค. 2550 ยุบพรรคไทยรักไทย และ 3 พรรคการเมืองขนาดเล็ก จากคดีจ้างลงเลือกตั้ง
  • 9 ก.ย. 2551 วินิจฉัยให้ “สมัคร สุนทรเวช” หมดคุณสมบัติ-หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่นายสมัครเป็นพิธีการรายการ “ชิมไป บ่นไป” เข้าข่ายเป็นลูกจ้างเอกชน
  • 2 ธ.ค. 2551 ยุบพรรคพลังประชาชน ขยายผลจากคดีทุจริตการเลือกตั้งของ ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคในขณะนั้น
  • 29 พ.ย. 2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน
  • 8 ม.ค. 2557 ล้ม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพื่อปรับปรุงระบบคมนาคมของประเทศ(รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง) โดย สุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นให้ความเห็นในตอนหนึ่งว่า “เอาถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จก่อนไปคิดถึงระบบความเร็วสูง”
  • 24 มี.ค. 2557 วินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่สามารถจัดให้ลุล่วงได้ภายในวันเดียว
  • 7 พ.ค. 2557 วินิจฉัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ
  • 7 มี.ค. 2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี
  • 18 ก.ย. 2562 วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”
  • 20 พ.ย. 2562 สมาชิกสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากคดีถือหุ้นสื่อ
  • 21 ก.พ. 2563 ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท จากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
  • 10 พ.ย. 2564 วินิจฉัยว่าข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของแกนนำกลุ่มราษฎรในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
  • 30 ก.ย. 2565 วินิจฉัยการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าให้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีผลบังคับใช้
  • 24 ม.ค. 2567 วินิจฉัยให้การถือหุ้น iTV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ


ที่มา:

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง