"พิธา" แถลงแนวทางต่อสู้ "คดียุบพรรคก้าวไกล"

"พิธา" แถลงแนวทางต่อสู้ "คดียุบพรรคก้าวไกล"

140909 มิ.ย. 67 13:34   |     AdminNews

"พิธา" แถลง 9 ข้อต่อสู้ "คดียุบพรรคก้าวไกล" เชื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย ชี้ยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ย้ำจุดยืนไม่เคยคิดล้มการปกครอง

วันที่ 9 มิ.ย.67 ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าว 9 ข้อต่อสู้ คดียุบพรรคก้าวไกล จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดพิจารณาเอกสารคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ประกอบด้วย

1.ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจ ที่จะวินิจฉัยคดีนี้

2.กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

3.คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้

4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์

5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ได้เป็นมติพรรค

6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 

7.ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

8.จำนวนปี ในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด

9.การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้อง กับชุดกรรมการบริหารพรรค ในช่วงที่ถูกกล่าวหา


โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 สัดส่วน ได้แก่ 1) เขตอำนาจและกระบวนการ 2) ข้อเท็จจริง 3) สัดส่วนโทษ ซึ่งทางพรรคได้พิจารณาแล้ว ว่าความเคลื่อนไหวในวันนี้ ไม่ได้ต้องการชี้นำสังคม หรือหวังผลเพื่อกดดันศาลในการวินิจจฉัย แต่เป็นการพูดตามหลักการและข้อเท็จริง ซึ่งพิจารณาแล้ว ว่าจะไม่ขัดต่อสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญแสดงความกังวลก่อนหน้านี้


นายพิธา เชื่อว่า ศาลรธน. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าว โดยมีการอธิบายพร้อมอ้างอิงจากมาตรา 210 ที่ต้องแยกแยะเกี่ยวกับวิธีการและขอบเขตอำนาจ ส่วนกระบวนการยื่นคำร้องของกกต.นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีโอกาสให้ผู้ถูกร้อง (พรรคก้าวไกล) มีโอกาสรับทราบ โต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานแต่อย่างได ซึ่งคดียุบพรรคก้าวไกลนั้น มีความแตกต่างกับคดีที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจาก กกต.ยื่นยุบพรรคตามมาตรา 92 หากเป็นไปตามครรรองทางกฎหมายจะต้องประกอบด้วยมาตรา 93 แต่หลักเกณฑ์และวิธีการของ กกต.เกี่ยวกับมาตรา 93 เปลี่ยนไปเมื่อเดือน เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งการยุบพรรคก่อนหน้า นี้ไม่มีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว 


นายพิธา มองว่าคำวินิจฉัยคดีวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่มีความผูกพันกับคดีนี้ หลายคนอาจเข้าใจว่า ข้อเท็จจริงได้รับการวินิจฉัยแล้วในคดี 3/67 (ซึ่งได้ข้อยุติแล้ว) และด่วนสรุปว่าคำวินิจฉัยคดีก่อนผูกพันคดีนี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งความเป็นจริงนั้น กรณีที่มีคำพิพากษาแล้วคดีหนึ่ง จะมีความผูกพันกับคดีหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อ 1) ข้อหาเดียวกัน และ 2) ระดับโทษใกล้เคียงกัน 


ยกตัวอย่าง คำพิพากษาในคดีแพ่ง ไม่ผูกพันกับคดีอาญา แม้จะเป็นข้อเม็จจริงเดียวกัน เนื่องจากความเข้มข้นของการพิสูจน์คดีแพ่งต่ำกว่าอาญา สำหรับคดียุบพรรค - ตัดสิทธิ์การเมือง มีสภาพความรับผิดเทียบเท่ากับกฎหมายอาญา


นายพิธา อธิบาย ตามทฤษฎีคนละข้อหา เปรียบเทียบ กับคดีความที่มีการวินิจฉัยวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และมีคำสั่งให้เลิกการกระทำแต่คดีหรือ ถูกดำเนินการตามพ.ร.ป.การเมืองฯ มาตรา 92 และจะมีโทษหนักกว่า เพราะจะต้องมีการสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิ์ กก.บห. พรรคก้าวไกลคิดว่า จำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีใหม่ทั้งหมด ตามมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าคดีก่อน


ทั้งนี้ พรรคมองว่าโทษของการยุบพรรคมีได้ แต่ต้องไม่ขัดหลักการและเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งจะใช้ต่อเมื่อเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อถึงคราวจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลันและไม่มีวิธีแก้ไขอื่น 


ส่วนกรณีการผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 เป็นข้อกล่าวหาที่สามารถยับยั้งแก้ไขได้โดยรัฐสภา ซึ่งเรื่องมาตรา 112 ยังไม่ได้เข้าสู่อภิปรายเลย แต่ถึงแม้จะถูกบรรจุร่างกฎหมายเข้าไปแล้วฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถตรวจสอบและยับยั้งได้ และที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถตรวจสอบความชอบด้วยธรรมนูญทั้งก่อนและหลังประกาศใช้กฎหมายได้เช่นกัน 


ทั้งนี้ ได้มีการยกกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองในประเทศเยอรมนี ปี 2017 ที่เคยมีการแสดงออกด้วยอุดมการณ์นาซี และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำตัดสิน 'ล้มล้างแต่ไม่ยุบพรรค' เนื่องจากไม่มีหลักฐานอันเป็นรูปธรรมที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จ หรือจะส่งผลต่อการต้องถูกยุบ 


ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพรรคก้าวไกล เชื่อเจตนาในการเข้าชื่อ ของ สส. ไม่ได้ล้มล้างการปกครอง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นนายประกัน และการที่มีผู้ต้องหา ม.112 เป็นสมาชิกพรรค ยังไม่สิ้นสุดคดี รวมถึงการแสดงออกเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 การกระทำเป็นเรื่องรายบุคคล เป็นเรื่องปัจเจคบุคคล ไม่ได้มาจากมติพรรค ยืนยันศาลไม่มีความเร่งด่วนที่จะต้องใช้มาตรการยุบพรรค ย้ำศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเฉพาะ 3 ข้อ เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นกฎหมายรอง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสินคดีนี้ 


แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ส่วนตัวเคารพในดุลพินิจศาล ไม่ขอก้าวล่วง หากศาลเห็นด้วยว่าสองคดีต่างกัน ก็ควรเปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ซึ่งทางพรรคก้าวไกล เตรียมผู้เชี่ยวชาญไว้ไต่สวน มากกว่า 10 คน หากถูกยุบ ก็มีการตรียมตัวไว้ทุกสถานการณ์ ที่มาผ่าน มีการยุบสองพรรคแล้ว ในรอบ5 ปี และมีการยุบพรรคการเมืองถึง 5 ครั้ง ในรอบ 20 ปี จึงไม่กล้าเดา หรือคิดว่าจะกระทบอะไรกับการเมือง และความเชื่อมั่นในประเทศ 


ทั้งนี้ นายพิธา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้สมาชิกพรรคยังเหนียวแน่น เป็นเอกภาพและมองการเป็นงูเห่าคือ การฆ่าตัวตายทางการเมือง แต่ส่วนตัวไม่ประมาท และไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองแต่ก็ไม่กับกังวล 


อย่างไรก็ตาม หากเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือยุบพรรค จะร้องต่อศาลปกครองหรือไม่นั้น พิธา ระบุว่า ทางทีมกฎหมายได้พูดคุยเรื่องนี้ กันแล้ว แต่ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียด ขอใช้เวลาศึกษาก่อน 


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง