“ทูตรัศม์” ซัดทูตฝรั่ง เทศนาประชาธิปไตยแบบไร้เดียงสา

“ทูตรัศม์” ซัดทูตฝรั่ง เทศนาประชาธิปไตยแบบไร้เดียงสา

66607 ส.ค. 67 11:16   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

“ทูตรัศม์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศโพสต์ถึงทูตจากชาติตะวันตก ถามแรงไปอยู่กันที่ไหนตอนประเทศไทยอยู่กับเผด็จการ ชี้ “ก้าวไกล” ชนะเลือกตั้งจริงแต่ยังห่างไกลจากการเป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมบอกยินดีรับคำเสนอแนะที่ดี แต่ถ้าเป็นการเทศนาประชาธิปไตยอย่างไร้เดียงสาก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะยอมรับ

(7 ส.ค. 67) สถานการณ์ยังคงร้อนแรงสำหรับคดีที่พรรคก้าวไกลถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรค จากกรณีการชูนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้(7 ส.ค.) เวลา 15.00 น.


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเรื่องท่าทีของต่างประเทศ ต่อคดีดังกล่าว โดยเพจ German Embassy Bangkok ของสถานทูตเยอรมันประจำประเทศได้ ได้โพสต์ภาพคณะเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ทูตจากประเทศต่างๆ รวม 18 ประเทศ พูดคุยร่วมกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะจากพรรคก้าวไกล เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติประชาธิปไตยในขณะนี้


ข่าวดังกล่าวสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล และฝ่ายที่ไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล โดยฝ่ายสนับสนุนชี้ว่านี่เป็นสัญญาณว่านานาชาติกำลังจับตาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนก็มองว่าการออกตัวเช่นนี้ของทูตจากประเทศต่างๆ ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย



ล่าสุดวันนี้ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำในหลายประเทศ และเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns ระบุว่า


“เรียนท่านเอกอัครราชทูตทั้งหลาย


พวกท่านไปอยู่ที่ไหนในขณะที่ศาลสั่งยุบพรรคการเมืองพรรคอื่นของไทย? ท่านอยู่ที่ไหนเมื่อรัฐบาลเผด็จการได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ศาลมีอำนาจยุบพรรคการเมือง ซึ่งต่อมาประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ ท่านได้ออกมาประท้วงหรือแสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว


แต่ก็แน่นอนว่าการยืนหยัดต่อต้านเผด็จการไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ในระดับเอกอัครราชทูต


ผ,อยากจะชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้ที่นั่งส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่พรรคนี้ก็ยังห่างไกลจากการเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ที่แท้จริงของไทย สำหรับพวกคุณแล้วหลักการประชาธิปไตยจะใช้เฉพาะกับคนบางคนหรือพรรคบางพรรคเท่านั้นหรือ? ไม่ใช่กับทั้งระบบอย่างนั้นหรือ?


เมื่อหลายทศวรรษก่อนประเทศของเอกอัครราชทูตเหล่านี้ยังคงก่ออาชญากรรมร้ายแรงในประเทศของตนเอง และในที่อื่นๆ ของโลก ตอนนี้พวกเขาพยายามเทศนาเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยซึ่งฟังดูไม่สมเหตุสมผลเลย


ผมยอมรับฟังความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์จากมิตรประเทศเสมอ แต่การเทศนาเรื่องประชาธิปไตยที่ไร้เดียงสาและไม่รู้เท่าทัน แบบนี้เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ”



ทั้งนี้วานนี้(6 ส.ค.) เพจของพรรคเพื่อไทยได้โพสต์ข้อความระบุว่าเป็นความเห็นของนายรัศม์ เกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง และรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องยุบพรรคก้าวไกล โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า


““รัศม์ ชาลีจันทร์” ชี้แจง โพสต์ iLaw บิดเบือนไม่ตรงเนื้อหา สวนทางข้อเท็จจริง ยืนยันรัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องฟ้องยุบพรรคก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง


นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่ iLaw โพสต์กล่าวหารัฐบาลกรณีการยื่นหนังสือตอบสหประชาชาติ หรือ UN ถึงการยุบพรรคก้าวไกล และโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นการนำเสนอที่สรุปรวบแบบ “ไม่ตรงกับเนื้อหา” และ “ไม่ตรงกับความเป็นจริง” เป็นพาดหัวตามภาพประกอบเพื่อชี้นำ และสร้างความเข้าใจผิดจากข้อเท็จจริงในองค์รวมของเนื้อหาในหนังสือจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ซึ่งหนังสือของไทย ที่เป็นการตอบคำถามตามข้อร้องเรียนของกลไกพิเศษ เกี่ยวกับกระบวนการที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 และการยื่นคำร้องของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยคำชี้แจงที่ส่งไป เป็นข้อเท็จจริง และสถานะของคดี ณ วันที่ตอบข้อร้องเรียน รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง



ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังยืนยันว่า รัฐบาลไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องยุบพรรคก้าวไกล และไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ หนังสือของไทยฉบับนี้ ได้ระบุเกี่ยวกับกำหนดการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 โดยไม่มีการคาดเดา หรือ Prejudge เท่านั้น ซึ่งภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินแล้ว กลไกพิเศษ ยังสามารถส่งข้อร้องเรียน หรือข้อซักถามเพิ่มเติมได้


ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมา มีการยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ ฯลฯ ซึ่งการยุบพรรคที่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้เสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนตามความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ อำนาจการยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ประชาชนไทยให้การรับรองผ่านการออกเสียงประชามติ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง