เส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

52106 พ.ย. 67 19:34   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐอเมริกาผ่านพ้นไปแล้ว แต่กระบวนการเลือกตั้งยังไม่จบเพียงแค่นี้ แต่ยังมีการโหวตของคณะผู้เลือกตั้ง(Electoral College) รออยู่ในเดือนหน้า มาดูกันว่าเส้นทางก่อนจะกลับสู่ทำเนียบขาวของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังมีอะไรที่รออยู่บ้าง

ในที่สุดผลการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการก็ออกมาแล้ว โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน สามารถเอาชนะ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสมัยปัจจุบันจากพรรคเดโมแครตไปได้แบบม้วนเดียวจบ แต่รู้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ นั้นแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งของไทยอยู่มากๆ วันที่ ข่าวเวิร์คพอยท์23 จะพาไปทำความเข้าใจเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ


ขั้นที่ 1 การเลือกตั้งขั้นต้นและการประชุมคอคัส

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเริ่มต้นที่พรรคการเมืองทำการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ว่าต้องการส่งใครเป็นตัวแทนพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยผู้ที่สนใจท้าชิงตำแหน่งแคนดิเดตพรรคจะเดินสายหาเสียง พบปะสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ก่อนที่จะมีกระบวนการหยั่งเสียง โดยกระบวนการนี้จะมีขึ้นช่วงครึ่งปีแรก ในแต่ละรัฐจะกำหนดวิธีหยั่งเสียงว่าจะใช้การเลือกตั้งขั้นตน(Primary Vote) หรือจะใช้การประชุมคอคัส(Caucus)


ความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้นและการประชุมคอคัสคือ


การเลือกตั้งขั้นต้น จะเป็นการจัดลงคะแนนเสียงแบบไม่เปิดเผยชื่อ จะเป็นการลงคะแนนแบบปิด คือให้เฉพาะสมาชิกพรรคในพื้นที่ลงคะแนนได้เท่านั้น หรือจะลงคะแนนแบบเปิด ที่ให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคร่วมลงคะแนนด้วยก็ได้


การประชุมคอคัส เป็นการประชุมภายในพรรค จัดขึ้นในระดับเคานตี เขต หรือเขตเลือกตั้ง ในการประชุมคอคัสส่วนใหญ่ ผู้ร่วมประชุมจะแบ่งกลุ่มตามผู้สมัครที่ตนสนับสนุน ในตอนท้าย จำนวนเสียงของผู้เข้าร่วมในแต่ละกลุ่มจะกำหนดจำนวนตัวแทนพรรคที่จะออกเสียงสนับสนุนผู้สมัครแต่ละคน


ขั้นที่ 2 การประชุมใหญ่พรรคการเมือง

หลังจากได้ชื่อแคนดิเดตท้าชิงตำแหน่ง ปธน. จากการหยั่งเสียงแล้ว พรรคการเมืองจะจัดการประชุมใหญ่พรรคขึ้น หากรายชื่อแคนดิเดตจากการหยั่งเสียงมีมากกว่า 1 คน ที่ประชุมใหญ่ก็จะเลือกให้เหลือตัวแทนเพียงคนเดียว ก่อนจะทำการรับรองและประกาศชื่อตัวแทนผู้ท้าชิงของพรรค เป็นการเริ่มกระบวนการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ โดยแคนดิเดตของพรรคจะเลือกคนที่จะขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีของตน และเดินหน้าหาเสียงกับประชาชนทั่วไป


ขั้นที่ 3 การเลือกตั้งทั่วไป

พลเมืองอเมริกัน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้เลือกตั้งทั่วไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยการเลือกครั้งนี้เป็นการเลือกว่าตนต้องการเลือก “ผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี”(Electoral College) ของผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใด 


หากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนในรัฐ ผู้สมัครคนนั้นจะได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด เป็นระบบที่เรียกว่า Winners-take-all หรือผู้ชนะกินรวบ เช่น ที่รัฐวิสคอนซินมีคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 10 ที่ พรรค A ได้ไป 7 ที่ ส่วนพรรค B ได้ไป 3 ที่ คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งฯ ทั้ง 10 ที่ ของรัฐนี้จะตกเป็นของพรรค A ในทันที


แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับรัฐเมน และรัฐเนแบรสกา ที่ไม่ได้ใช้ระบบ Winners-take-all ทั้งรัฐ แต่จะมีการแบ่งคะแนนเสียงให้ฝ่ายที่ชนะคะแนนโหวตทั้ง(Popular Vote) ด้วย


ขั้นที่ 4 คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี

คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นกระบวนการที่ “คณะผู้เลือกตั้ง” (Electoral College) หรือตัวแทนจากแต่ละรัฐลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยแต่ละรัฐมีจำนวนผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีเท่ากับจำนวนตัวแทนของรัฐในสภาคองเกรส คณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดมีจำนวน 538 คน คนละ 1 คะแนนเสียง ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี


ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้ กระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในวันที่ 17 ธ.ค. 2567 นี้


ขั้นที่ 5 สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในช่วงเดือนมกราคม ถือเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ และสามารถเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ หากไม่มีเหตุผิดพลาดใดเกิดขึ้นในระหว่างนี้ เขาและรองประธานาธิบดีของเขา จะเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค. 2568



อ้างอิง: https://th.usembassy.gov/th/summary-of-the-u-s-presidential-election-process-th/primaries-and-caucuses-th/



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง