“พิชิต ชื่นบาน” จากทนายถุงขนม ถึงปมเหตุร้องตรวจสอบ “เศรษฐา”

“พิชิต ชื่นบาน” จากทนายถุงขนม ถึงปมเหตุร้องตรวจสอบ “เศรษฐา”

33923 พ.ค. 67 18:55   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

เปิดประวัติ “พิชิต ชื่นบาน” ทนายความตระกูลชินวัตร กับเส้นทางชีวิตก่อนเป็นต้นเหตุให้ 40 สว.ร้องศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติ “เศรษฐา ทวีสิน” กรณีแต่งตั้งรัฐมนตรีโดยมิชอบ

“พิชิต ชื่นบาน” ชื่อนี้คุ้นหูคนที่ติดตามแวดวงการเมืองเป็นอย่างดี จากการเป็นทนายหน้าหอของตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะจากคดีที่ดินรัชดา ที่ทำให้เกิดฉายา “ทนายถุงขนม” จนมาล่าสุดมีชื่อติดโผรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ถึง 2 ครั้ง และเป็นต้นเหตุให้นายเศรษฐาของเผชิญกับการตรวจสอบคุณสมบัติจากศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าแต่งตั้งรัฐมนตรีโดยมิชอบ จนสุดท้ายต้องประกาศไขก๊อกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 เดือน


นายพิชิต เกิดเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2502 พื้นเพเดิมเป็นชาว อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยผลการเรียนระดับเกียรตินิยมอันดับ 2 จบปริญญาโท 2 ใบ ด้านกฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และด้ารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากนั้นยังจบชั้นปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วย



หลังเรียนจบด้านกฎหมาย นายพิชิตได้เข้าสอบเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 34 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และได้ประกอบอาชีพในสายงานทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมายมานานกว่า 30 ปี


ชื่อของ “พิชิต ชื่นบาน” เริ่มเป็นที่รู้จักในหน้าสื่อ จากการรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สู้คดีความต่างๆ ช่วงหลังถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

คดีที่โด่งดังและอื้อฉาวที่สุดในประวัติการทำงานของนายพิชิต คือคดีที่ดินรัชดา ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่คุณหญิงพจมานประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดยนายทักษิณ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส


ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีที่ดินรัชดาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2550 ซึ่งเป็นสมัยของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจาก คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยขณะที่มีคำสั่งฟ้องนั้นนายทักษิณได้พำนักอยู่ต่างประเทศเพื่อลี้ภัยการเมือง



กระทั่งวันที่ 28 ก.พ. 2551 นายทักษิณและคุณหญิงพจมาน เดินทางกลับเข้าประเทศไทย และได้เดินทางไปขึ้นศาลในคดีที่ดินรัชดา การต่อสู้คดีดำเนินไปจนกระทั่ง วันที่ 10 มิ.ย. 2551 นายทักษิณเดินทางมารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่างนั้นมีทีมทนายความนำถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านบาทไปให้เจ้าหน้าที่ศาล แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น


หลังจากนั้นมีการแจ้งความดำเนินคดี ส่วนเงินของกลางได้คืนแก่ทีมทนายความไป ศาลได้แจ้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลกับทีมทนายความซึ่งมีนายพิชิตเป็นหัวหน้าทีม และไต่สวนข้อเท็จจริง กระทั่งวันที่ 25 มิ.ย. 2551 ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำคุกนายพิชิต กับพวก คนละ 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล จนพ้นโทษเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551


เหตุดังกล่าวเป็นที่มาของฉายา “ทนายถุงขนม” ของพิชิต แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นผู้หิ้วถุงใส่เงินดังกล่าวไปให้กับเจ้าหน้าที่ศาลก็ตาม และนอกจากถูกลงโทษจำคุกแล้ว นายพิชิตยังถูกสภาทนายความมีมติให้ลบชื่อของเขาออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลานาน 5 ปีอีกด้วย


ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 นายพิชิตลงรับเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 53 ของพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกเป็น สส.ในการเลือกตั้งคราวนั้น โดยเขาและอยู่เบื้องหลังในการกลั่นกรองระเบียบกฎหมาย ในการสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกด้วย



หลังจากที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นายพิชิตก็ได้เป็นหัวหน้าทีมทนายในการสู้คดีของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าวอีกครั้ง


ก่อนที่ในปี 2562 นายพิชิตจะมีชื่อปรากฏเป็นประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนที่พรรคจะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 13 คน เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 เนื่องมาจากกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยการยุบพรรคในครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งเพียงไม่ถึง 20 วันเท่านั้น


ชื่อของนายพิชิตกลับมาอยู่ในหน้าข่าวการเมืองอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 หลังพรรคเพื่อไทยส่ง นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เป็นที่สำเร็จ โดยชื่อของนายพิชิตติดอยู่ในโผว่าที่คณะรัฐมนตรี เศรษฐา1 โดยถูกวางตัวไว้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


หลังโผดังกล่าวหลุดออกมา ก็เกิดกระแสต่อต้านขึ้น นำโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่านายพิชิตไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ เนื่องจากคุณสมบัติขัดกับคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่ระบุในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(7) “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” ซึ่งมาตรานี้จะแตกต่างจาก มาตรา 98(7) ของคุณสมบัติ สส. ที่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปี



หลังถูกกระแสวิจารณ์ นายพิชิตจึงออกมาประกาศขอไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่มีโผมา โดยนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าการขอถอนตัวไม่รับตำแหน่งของนายพิชิตในครั้งนี้ไม่ใช่เพราะขาดคุณสมบัติ แต่เป็นเพราะไม่อยากให้นายเศรษฐาต้องมาคอยตอบคำถามเรื่องการแต่งตั้งตนเอง อยากให้การทำงานของรัฐบาลนั้นราบรื่นและคล่องตัว


จากนั้นวันที่ 15 ก.ย. 2566 นายเศรษฐาได้เลือกที่จะเซ็นแต่งตั้งนายพิชิตให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแทน แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังไม่หยุด จนกระทั่งนายพิชิตได้มอบอำนาจให้ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมทนายความจะไปยื่นฟ้อง นายสมชัย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และเรียกค่าเสียหายนทางแพ่ง 50 ล้านบาท ขณะที่นายสมชัยก็ฟ้องกลับนายพิชิตและนายพร้อมพงศ์ ในข้อห้าฟ้องเท็จ และหมิ่นประมาท พร้อมเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทเช่นกัน


หลังความพยายามครั้งแรกที่จะแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีไม่เป็นผล ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของนายเศรษฐา ก็ปรากฏชื่อของนายพิชิตอีกครั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คราวนี้ไม่ได้มาเป็นโผ แต่เป็นการเซ็นแต่งตั้งทันที นายพิชิตเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ 28 เม.ย. 2567


หลังได้รับการแต่งตั้งก็เริ่มมีเสียงต่อต้านดังมาอีกระลอก คราวนี้สมาชิกวุฒิสภา(สว.) จำนวน 40 คน ได้เข้าชื่อกันยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต่อ พิชิต ชื่นบาน เนื่องจากมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง


นายพิชิตได้ออกมาโต้ยืนยันว่าตนเองมีคุณสมบัติครบทุกประการ พร้อมทั้งบอกว่านี่เป็นเกมการเมือง มีผู้อยู่เบื้องหลัง สว.ทั้ง 40 คนดังกล่าว และตนพร้อมลาออกหากพบว่าผิดจริง


แต่แล้วเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 21 พ.ค. 2567 ก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีประชุมว่าจะรับคำร้องหรือไม่ นายพิชิตก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยในหนังสือลาออกนั้นระบุว่าตนคำนึงถึงประโยชน์บ้านเมือง แม้ว่าตนจะตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีการส่งเรื่องร้องเรียนพาดพิงไปถึงนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ตนจึงขอลาออก เพื่อให้ประเทศและรัฐบาลเดินหน้าต่อไปได้



ถึงแม้ว่านายพิชิตจะประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว แต่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่จบลง ในวันที่ 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6:3 ให้รับคำร้องของกลุ่ม 40 สว. ไว้พิจารณา โดยในส่วนคำร้องของนายพิชิตนั้น เนื่องจากนายพิชิตลาออกแล้ว ตุลาการ 8:1 เสียงเห็นว่าไม่ต้องวินิจฉัยและไม่รับคำร้องในส่วนนี้แล้ว แต่ยังคงมีการรับคำร้องในส่วนของนายเศรษฐา อยู่ โดยเสียง 5:4 ให้นายเศรษฐาเข้าชี้แจงภายใน 15 วัน และระหว่างนี้ยังไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่


ขณะที่นายเศรษฐา ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ออกมาแสดงความเห็นว่ารับทราบถึงการพิจารณาของศาลบรัฐธรรมนูญในครั้งนี้แล้ว เชื่อว่าจะชี้แจง เห็นว่าเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย และไม่ต้องการที่จะกดดันศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว


ที่มา:


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง