"ไบร์ท วรวิทย์"โต้ "นัท เลอทาน่า" ค่าละเมิดลิขสิทธิ์เพลงไม่ถึง 1 ล้านบาท

"ไบร์ท วรวิทย์"โต้ "นัท เลอทาน่า" ค่าละเมิดลิขสิทธิ์เพลงไม่ถึง 1 ล้านบาท

63504 ก.ค. 67 23:43   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

"ไบร์ท วรวิทย์"โต้ "นัท เลอทาน่า" ค่าละเมิดลิขสิทธิ์เพลงไม่ถึง 1 ล้านบาท พร้อมแจงเรื่องราวทั้งหมด

(4ก.ค.67) ที่ สำนักงานทนายรัชพล ศิริสาคร ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี นายวรวิทย์ นิมมานศิริกุล หรือ "ไบร์ท" ตัวแทนลิขสิทธิ์เพลงของ นายฉัตรชัย ดุริยประณีต และ นายเสนีย์ ฉัตรวิชัย หรือ ปื๊ด วงอินโนเซ้นท์ พร้อมทนายความ เดินทางมาพบ นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ เพื่อปรึกษาข้อกฎหมายจากกรณีที่ "นัท เลอทาน่า" หรือ นายกิตติพันธ์ ลี้ศัตรูพ่าย นักร้องและเจ้าของโรงแรมดังย่านบางพลี ให้ข่าวว่าถูกเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์เรียกเก็บเงินค่าละเมิดเป็นจำนวนเงินที่สูงถึง 1 ล้านบาทนั้น


นายวรวิทย์ กล่าวว่า เป็นตัวแทนของพี่ ๆ ผู้ประพันธ์เพลงและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบว่าเจ้าของโรงแรมแห่งนี้ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการนำเพลงทนได้ทนไป ซึ่งเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ตนดูแลเรื่องลิขสิทธิ์อยู่ ไปร้องและดัดแปลงทำดนตรีใหม่โดยเล่นอยู่ในโรงแรม และมีการอัดคลิปไปลงแพลตฟอร์มในโซเชียล มีการนำโลโก้โรงแรมมาใส่ในคลิปที่เผยแพร่ โดยไม่ได้ขออนุญาตนำเพลงไปใช้อย่างถูกต้อง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าอย่างชัดเจน เพราะผู้ที่นำเพลงไปร้องซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม ได้ประชาสัมพันธ์โรงแรม ขายเครื่องดื่ม ห้องพัก และยังมีรายได้จากแพลตฟอร์มที่นำคลิปไปลงอีกช่องทางหนึ่งด้วย


นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า หลังพบว่าเจ้าของโรงแรมละเมิดลิขสิทธิ์เพลงจึงให้ทนายตรวจสอบหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์และสอบถามไปยังผู้ประพันธ์เพลงต่าง ๆ พบว่าผู้ประพันธ์เพลงไม่เคยได้รับการติดต่อขออนุญาตใช้เพลงจึงติดต่อแจ้งกับเจ้าของโรงแรมเรื่องที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์เพลงไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 เพราะจากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง จำนวน 10 เพลงด้วย จึงได้นัดหมายเจรจากัน โดยมีตัวแทนจากบริษัทที่เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับช่องออนไลน์การเผยแพร่ทางโรงแรมร่วมอยู่ด้วย ซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเรียกค่าละเมิดสิทธิจะอยู่ที่ขั้นต่ำ 1 แสนบาทต่อเพลง ซึ่งตนก็ได้เรียกค่าเสียหายไปที่เพลงละ 1 แสนบาท 10 เพลงก็เท่ากับ 1 ล้านบาทพอดี


นายวรวิทย์ กล่าวต่อไปอีกว่า แต่สุดท้ายมีการเจรจากันทั้ง 3 ฝ่าย คือฝ่ายตน ผู้ถือลิขสิทธิ์เพลง และเจ้าของโรงแรม พร้อมด้วยฝ่ายกฎหมายของโรงแรม จนได้ตัวเลขสรุปจบที่ 350,000 บาท ต่อ 10 เพลงที่ถูกละเมิดไป เฉลี่ยแล้วตกเพลงละ 35,000 บาท จึงได้แจ้งให้ผู้ประพันธ์รับทราบ ซึ่งผู้ประพันธ์ก็บอกว่า โดยปกติการขออนุญาต ทำซ้ำ ดัดแปลงต้นแบบจะคิดราคาประมาณ 4 - 5 หมื่นบาท ราคาเฉลี่ย 3.5 หมื่นบาทต่อเพลงนับว่าต่ำกว่าราคาที่ซื้อลิขสิทธิ์เพลงโดยปกติเสียอีก แต่ก็ให้สิทธิตนพิจารณาตามเห็นสมควร จึงได้ตกลงราคาที่ต่ำกว่าการซื้อลิขสิทธิ์เพลงปกติ รวม 10 เพลง เป็นเงิน 3.5 แสนบาท ไปแจ้งให้กับทีมโรงแรมว่าเหมาราคา 10 เพลงตามตกลงร่วมกัน แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากทางโรงแรมแต่อย่างใด


นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า ต่อมาได้ให้ทนายส่งโนติสแจ้งให้ชำระค่าละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงทนได้ทนไป ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ไปที่บ้านเจ้าของโรงแรม แต่เขาก็เพิกเฉย ไม่มีการติดต่อกลับใด ๆ จึงได้ส่งไปในครั้งที่ 2 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 รอบนี้ส่งไปที่บ้านของเจ้าของโรงแรม และส่งไปที่บริษัทของโรงแรมด้วย จากนั้นเจ้าของโรงแรมให้ตัวแทนฝ่ายกฎหมายติดต่อกลับมาทางทนายของพี่นก ฉัตรชัย ผู้ประพันธ์เพลง ในวันที่ 19 -23 กุมภาพันธ์ 2567 ทนายของพี่นกแจ้งตัวเลขตามเดิมคือ 350,000 บาท ต่อ 10 เพลง ทางตัวแทนฝ่ายกฎหมายของโรงแรมได้ขอเวลาไปแจ้งกับเจ้าของโรงแรมแล้วก็เงียบไป จนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ติดต่อไปอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด


“วันที่ 5 มีนาคม 2567 ทนายความได้เข้าแจ้งความเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงทนได้ทนไป เพียงแค่เพลงเดียวเพราะหวังจะให้โอกาสเจ้าของโรงแรมได้ติดต่อมาคุยกันให้จบ ถ้าหลังออกหมายเรียกแล้วคุยกับเจ้าของโรงแรมไม่ได้ หรือไม่ชำระ จึงจะไปแจ้งความเพลงที่เหลือ 9 เพลงตามไป ต่อมาตำรวจได้ออกหมายเรียก นัดเจ้าของโรงแรมมาพบเพื่อทราบข้อกล่าวหา และให้เจ้าของโรงแรมติดต่อกลับไปยังตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อชำระค่าละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย เพราะพยานหลักฐานที่ตำรวจตรวจสอบข้อมูลแล้วมีการละเมิดลิขสิทธิ์จริง ๆ แต่เจ้าของโรงแรมจะขอจ่ายเงินเพียง 100,000 บาทเท่านั้น ทำให้ทางผม ซึ่งเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ไม่สามารถตกลงกับเจ้าของโรงแรมได้” นายวรวิทย์ระบุ


นายวรวิทย์ กล่าวระบุอีกว่า นอกจากนี้ยังพบคลิปเพลงบางเพลง จาก 10 เพลงดังกล่าวค้างอยู่บางแพลตฟอร์ม ซึ่งโรงแรมลงหลายแพลตฟอร์ม ไม่ได้ลบทั้งหมดอย่างที่พูดไว้ และที่แน่ ๆ คือคลิปไลฟ์ร้องเพลงที่เผยแพร่ในยูทูบเกือบทุกอีพีมีโลโก้ เครื่องหมายการค้าของโรงแรม เท่าที่ตรวจดูเจ้าของโรงแรมแทบไม่ได้ลบเลย 


"ซึ่งคลิปเหล่านี้สร้างผลประโยชน์รอบด้านให้กับโรงแรม เจ้าของโรงแรมอาจเข้าใจว่าเราไม่ได้มาดูตรงนี้ เพราะเป็นคลิปเพลงรวม คลิปยาวเป็นชั่วโมง และเยอะมาก เลยอาจจะนึกไม่ถึงว่าเราจะตรวจตรงนี้ด้วย ระหว่างที่ตรวจดู ทนายก็เจอเพิ่มขึ้น ๆ จึงทยอยเก็บไปด้วยตามที่เจอ" นายวรวิทย์ ระบุ


นายวรวิทย์ บอกอีกว่า วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ทนายยื่นฟ้องในเพลงทนได้ทนไป 1 เพลงก่อน เพราะถ้ายื่นฟ้องพร้อมกันหมดทุกคดี ทุกเพลง อาจสร้างความวุ่นวายให้ทุกฝ่ายได้ อีกทั้งจะโดนมองว่าตั้งใจมาค้าความ เลยยื่นฟ้องแค่ 1 เพลง และการกระทำความผิดน้อยกรรมก่อน เพราะยังมีความคิดว่าการยื่นฟ้องรอบนี้จะเป็นการทำให้เจ้าของโรงแรมได้มาคุยกับเรา เพราะก่อนหน้านั้นทางผมพยายามติดต่ออย่างเต็มที่ แต่ติดต่อไม่ได้ โดนบล็อก ไม่รับสาย ให้ทางทนายติดต่อก็ไม่สำเร็จ ติดต่อได้บ้างไม่ได้บ้าง


"มีบางครั้งที่ทนายติดต่อไป แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบอีกเช่นเคย เลยคิดว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ หมายศาลจะทำให้เจ้าของโรงแรมได้เข้ามาเจรจาให้เรียบร้อย ไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี เป็นเพียงการปกป้องสิทธิของผู้ประพันธ์เพลงเท่านั้น เพราะถ้าหากตั้งใจดำเนินคดีอย่างจริงจัง สามารถฟ้องทีเดียวครบ 10 เพลงได้เลย แถมเพลงที่เหลือ กรรมความผิดเยอะมาก ๆ ด้วย แต่เราไม่ทำเช่นนั้น เพราะหวังว่าถ้ามาคุยเพลงที่ฟ้องไปก่อน 1 เพลงได้จบ ก็จะได้เจรจาจ่ายในเพลงที่เหลือให้จบทั้งหมด เราคิดแบบนี้ ไม่งั้นคงไม่พยายามติดตามเจรจามาอย่างยาวนานตั้ง 5 เดือนกว่า" นายวรวิทย์เผย


นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า การที่เจ้าของโรงแรมอัดคลิปพูดถึงคดีเพลงทนได้ทนไปและเพลงอื่นๆ ทำให้ผู้ประพันธ์เพลงและตน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ถูกว่ากล่าวเสีย ๆ หาย ๆ ไปในวงกว้างมาก ๆ โดยเน้นประเด็นเพลงละแสน สิบเพลงล้าน ซึ่งอันที่จริง ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยในราคาเพลงละประมาณ 3.5 หมื่นบาท 10 เพลงเป็นเงิน 3.5 แสนบาท มาตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของการเจรจาและยึดถือตัวเลขนี้มาตลอด 


"แต่ทางเจ้าของโรงแรมกลับพูดเน้นย้ำว่าผู้รับมอบอำนาจจะเก็บในราคา 1 แสนบาท รวม 10 เพลง เป็นเงิน 1 ล้านบาท โดยไม่พูดข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าโรงแรมทราบราคาเฉลี่ยเพลงละประมาณ 3.5 หมื่นบาทต่อเพลง แล้วก็ไม่ติดต่อกลับมาเพื่อชำระค่าละเมิดลิขสิทธิ์เพลงให้เรียบร้อยตามที่ตกลงกันไว้ในตอนแรกเป็นการไม่สมควรแล้ว เพราะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ค่าทนาย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินงานไปมากพอสมควร" นายวรวิทย์ ระบุ


นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า อีกทั้งการอัดคลิปไม่พูดความจริงทั้งหมดให้ครบถ้วน การพูดของเจ้าของโรงแรมทำให้คนในสังคมวงกว้างมีความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังผู้ประพันธ์เพลงและผู้รับมอบอำนาจ รวมถึงในคลิปของเจ้าของโรงแรมมีการนำสำเนาคำฟ้องมาแสดงเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลผู้เกี่ยวข้องในคดี ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ทางทีมผู้ประพันธ์เพลงจึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของทุกคนในคดีทนได้ทนไปที่ถูกกล่าวถึง


ด้าน นายรัชพล กล่าวว่า ในส่วนของกฎหมายเขาใช้ความรู้ความสามารถมาแต่งเพลง เป็นผลงานสร้างสรรค์ของเขา หรือใครก็ตามที่เป็นศิลปินเขาก็มีลิขสิทธิ์ พอมีลิขสิทธิ์คนอื่นจะเอาไปร้อง ไปทำซ้ำ ดัดแปลง ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ้าไม่ขอแล้วเอาไปใช้ทางการค้า ตามกฎหมายก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 - 800,000 บาท รวมทั้งต้องมีการชดใช้เยียวยาค่าเสียหายด้วยตามกฎหมายแพ่งบวกอาญา


“เรื่องนี้พี่นัท เจ้าของโรงแรม ก็ยอมรับแล้วว่าเขาละเมิดจริง เพียงแต่ข้อตกลงเรื่องราคาไม่ลงตัวกัน ถ้าไม่ชดใช้ความเสียหายขึ้น แล้วเขาไม่ถอนแจ้งความจะมีโทษทางอาญา ดังนั้น ถ้าเกิดว่าตกลงกันไม่ได้ ผมสามารถเป็นตัวกลางให้มาไกล่เกลี่ยกัน แต่ต้องดูว่ายอดสุดท้ายแล้วอยู่ที่เท่าไหร่” นายรัชพลกล่าว


นายรัชพล กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงพี่นัท ลองคิดดูสักนิดนึง ถ้าไม่จ่ายแล้วเขาดำเนินคดีอาญามันต้องไปศาลแล้วสุดท้ายศาลจะสั่ง มันมีโทษจำคุกด้วย โทษปรับอีก แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหายอีกเช่นกัน อยู่ที่ว่าจะชดใช้ค่าเสียหายตรงนี้แล้วจบ หรือจะไปชดใช้ในศาล อาจได้ชดใช้น้อยลงกว่าที่เขาเรียก แต่จะมีโทษจำคุกด้วยหรือเปล่า โทษปรับอีกหรือเปล่า ต้องพิจารณาในส่วนนี้ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง