เรียนจบแล้ว นศ.ทุน กสศ. 2,603 คน ตอบโจทย์แรงงานทักษะสูงขาดแคลน
เรียนจบแล้ว นศ.ทุน กสศ. 2,603 คน ตอบโจทย์แรงงานทักษะสูงขาดแคลน

นักศึกษาทุน กสศ. จำนวน 2,603 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว ตอบโจทย์แรงงานทักษะสูงขาดแคลน กสศ.ชี้ลงทุนการศึกษาเปลี่ยนชีวิต คุ้มค่าเทียบหุ้น Super Stock ไม่เพียงแก้ความยากจนแต่สร้างคนมีใจทำประโยชน์เพื่อสังคม
วันที่ 16 มีนาคม 2568 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ห้องแซฟไฟร์ 204-205 เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศให้กับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่สำเร็จการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 2,603 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพในโครงการฯ จำนวน 78 แห่ง ครอบคลุม 39 จังหวัด โดยจัดพร้อมกัน 10 จังหวัด สำหรับสาขาที่จบเป็นสาขาเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ สาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เทคโนโลยีเกษตรนวัต เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ช่างอากาศยาน เทคนิคระบบขนส่งทางราง เทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์ อาหารและโภชนาการ การจัดประชุมและนิทรรศการ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การดำเนินงานของกสศ. มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ สำหรับเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ(ม.3) เพิ่มขึ้น เพื่อโอกาสในการก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น โครงการนี้ทดลองดำเนินงานมาแล้ว 6 รุ่น พบว่า การสนับสนุนทุนการศึกษาระยะสั้น เช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และสาขาเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ คือรูปแบบการเรียนรู้ที่แก้ปัญหาความยากจนให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ได้ผลมากที่สุด เปลี่ยนชีวิต มีอาชีพ สร้างรายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ช่วยยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ในรุ่นของตนเอง
“กสศ. ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม จากการลงทุน (Social Return on Investment : SROI) ในโครงการนี้ โดยประเมินรายได้ตลอดช่วงชีวิต พบว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยเฉลี่ย SROI ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 2- 4 เท่า ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนทางสังคมที่สูงมาก แต่ความคุ้มค่าที่สุดของการลงทุนไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่เป็นความคุ้มค่าที่เราสร้างคนที่มีทักษะชีวิต มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม มากกว่าเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่อยากทำเพื่อผู้อื่น สัญญาทุนเราอาจจบในวันนี้ แต่สัญญาใจที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศไทยจะไม่มีวันสิ้นสุดตลอดไป” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
.
สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่จบการศึกษารุ่นนี้ มีภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนงบประมาณลงทุนร่วมกับ กสศ. ในลักษณะทุนการศึกษา เช่น สลากการกุศลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐบาลสนับสนุนให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุนเยาวชนอีกจำนวน 456 คน ได้ทุนเรียนต่อหลักสูตรระยะสั้น 1 ปี ในสาขาผู้ช่วยพยาบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์ใน 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
“ตามนิยามของ ดร.นิเวศน์ กูรูการลงทุนหุ้นสายคุณค่า ( VI ) หุ้น Super Stock คือหุ้นที่มีการเติบโตอย่างน้อย 10 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี การลงทุนในนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเหมือนการลงทุนในหุ้น Super Stock ของคนไทยทุกคนที่มีส่วนได้สนับสนุนการพัฒนาน้องๆ จากเด็กในครัวเรือนยากจน สู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ ช่างไฟฟ้า ช่างเทคนิคระบบราง ช่างแมคคาทรอนิสค์และหุ่นยนต์ ที่มีการเติบโตทั้งความรู้ความสามารถ และชีวิตที่มุ่งช่วยเหลือผู้อื่นและประเทศชาติ เป็นการเติบโตรอบด้านมากกว่า 10 เท่า ปัจจุบันมีหน่วยงานมาร่วมลงทุนในเด็ก Super Stock เหล่านี้กับ กสศ. จำนวนมาก นอกจากสลากการกุศล ยังมี มูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”
จากข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนปีที่เข้ารับการศึกษาโดยเฉลี่ย (Average years of schooling) และรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) พบว่าประเทศที่มีประชากรที่ได้รับการศึกษาได้ในระดับที่สูง จะมีแนวโน้มมีรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงด้วยเช่นกัน โดยหากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าประชากรในประเทศไทยได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ย 9.32 ปี หรือราวระดับการศึกษาบังคับ(ม.3) ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับรายได้ต่อหัวประชากรต่ำกว่าอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ขณะที่่ประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ หรือในประเทศเสือเศรษฐกิจในเอเชียอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ต่างมีประชากรที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ อยู่ที่ 11 - 13 ปีทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทุนมนุษย์ในการยกระดับรายได้และเศรษฐกิจของประเทศ