คดีตัวอย่าง! ศาลยกฟ้องคดีหนี้บัตรเครดิตถูกมิจฉาชีพดูดเงิน

คดีตัวอย่าง! ศาลยกฟ้องคดีหนี้บัตรเครดิตถูกมิจฉาชีพดูดเงิน

17120 ก.ย. 67 18:41   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

คดีตัวอย่าง! ศาลยกฟ้องคดีหนี้บัตรเครดิต เหตุจำเลยเป็นเหยื่อถูกมิจฉาชีพหลอกติดตั้งแอปแล้วดูดเงินจากบัตรเครดิต-บัญชีธนาคาร ยึดแนวนโยบายแบงค์ชาติธนาคารต้องคุ้มครองเยียวยาเหยื่อ

(20 ก.ย. 67) เพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์ข้อความบอกเล่าคดีที่ผู้ใช้บัตรเครดิตรายหนึ่งถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากไม่ยอมจ่ายหนี้บัตรเครดิต แต่หนี้บัตรดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรเอง แต่เป็นเพราะผู้ถือบัตรถูกคนร้ายโทรมาหลอกให้กรอกข้อมูลและให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นปลอม ที่ทำให้คนร้ายสามารถควบคุมสมาร์ทโฟนของผู้ถือบัตรได้


เมื่อคนร้ายลักลอบใช้แอปพลิเคชันธนาคารของผู้ถือบัตร ก็ได้สั่งถอนเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาไว้ที่บัญชีธนาคาร ก่อนที่จะโอนเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ถือบัตรไปเข้าบัญชีอื่น ซึ่งผู้ถือบัตรไหวตัวและพยายามขัดขวางคนร้าย แต่ไปสำเร็จ จึงรีบโทรแจ้งทางธนาคารและแจ้งความ ก่อนที่จะถูกฟ้องร้องเพราะไม่จ่ายหนี้จากเงินก้อนที่มิจฉาชีพกดออกไป ผู้ถือบัตรจึงร้องเรียนไปที่สภาผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือด้านคดี  


เพจสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า “จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ศาลแขวงระยอง ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ 4 ประการ ได้แก่


1) หลังจากเกิดเหตุผู้บริโภครีบแจ้งธนาคารบัตรเครดิตทันที ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าผู้บริโภคได้รีบดำเนินการเมื่อทราบเหตุ แต่เมื่อ บริษัทฯ ทราบเรื่องจากผู้บริโภคแล้วกลับเพียงแจ้งให้ผู้บริโภคไปแจ้งความกับตำรวจและไม่ได้ดำเนินการอื่น เพื่อปกป้องไม่ให้เงินถูกถ่ายโอนไปยังบัญชีอื่น ๆ ต่อ


2) เงินที่ถูกโจรกรรมเป็นเงินของธนาคารบัตรเครดิตไม่ใช่เงินของผู้บริโภคฯ


3) ธนาคารบัตรเครดิตฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินและเป็นจ้าของเงินที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไป สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกัยธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นเพื่อระงับหรือายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบได้ แต่กลับไม่รวมกลุ่มกันเพื่อยกระดับการป้องกันภัยทุจริตดังกล่าว และ


4) แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงเรื่องการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตร โดยข้อ 3.2 กำหนดชัดเจนว่า “กรณีเหตุการณ์ทุจริตที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตร และมีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน” ดังนั้น เป็นความรับผิดชอบของธนาคารบัตรเครดิตฯ ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ควรมาฟ้องผู้บริโภคต่อศาล



“คำพิพากษาของศาลแขวงระยอง ถือเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อเงินที่ถูกโอนออกไปจากภัยทุจริตทางการเงินเอง ไม่ใช่มาฟ้องคดีให้ผู้บริโภครับผิด และคำพิพากษานี้ยังย้ำถึงหน้าที่ของธนาคารที่ต้องสร้างเครือข่าย ร่วมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นเพื่อระงับ ยับยั้ง หรืออายัดเงินที่ลูกค้าผู้ถือบัตรได้แจ้งเหตุว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบโดยง่าย และย้ำอีกว่าธนาคารต้องทำตามประกาศของแบงก์ชาติ จึงเห็นว่าธนาคารทุกธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ต้องยึดคำพิพากษานี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และไม่ควรอุทธรณ์คดี”


ทั้งนี้ ข้อสังเกตหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคคือ หากผู้บริโภคโดนมิจฉาชีพดูดเงินต้องรีบแจ้งธนาคารและแจ้งความกับตำรวจทันที ซึ่งจะช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ใจของผู้บริโภคว่าไม่ใช่ผู้ทำธุรกรรม และเป็นข้อสำคัญที่จะใช้ต่อสู้ในคดีด้วย”



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง