บ้านไหนมีผู้ป่วยติดเตียง แจ้งการไฟฟ้ายกเว้นตัดไฟได้!

บ้านไหนมีผู้ป่วยติดเตียง แจ้งการไฟฟ้ายกเว้นตัดไฟได้!

16403 ต.ค. 67 17:39   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

บ้านไหนมีคนไข้ติดเตียง ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ 24 ชั่วโมงต้องอ่าน! วิธีลงทะเบียนง่ายๆ ไม่ให้การไฟฟ้าตัดไฟยกหม้อ

จากข่าวสลดเรื่องเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าเข้าตัดไฟที่บ้านหลังหนึ่ง ทั้งๆ ที่ในบ้านดังกล่าวมีผู้ป่วยติดเตียง อายุ 68 ปี มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อให้เครื่องออกซิเขนและเครื่องดูดเสมหะทำงาน หลังถูกตัดไฟหลานสาวเจ้าของบ้านรีบไปจ่ายค่าไฟภายใน 1 ชั่วโมง แต่สุดท้ายหญิงชราเสียชีวิต


กรณีนี้กลายมาที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่า การตัดไฟฟ้าบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงนั้นเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่มองว่าควรคิดถึงหลักมนุษยธรรมก่อนที่จะตัดไฟ และฝ่ายที่มองว่าระเบียบต้องเป็นระเบียบ และเป็นหน้าที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะไปจ่ายค่าไฟตามเวลาที่กำหนด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: โวยไร้มนุษยธรรม! การไฟฟ้าตัดไฟทำยาย 68 เสียชีวิต


แต่ทราบหรือไม่ว่าที่จริงแล้วทั้งการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นั้นมีมาตรการให้ความช่วยเหลือบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ากับเครื่องมือทางการแพทย์ ให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้โดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสบายใจว่าจะไม่ถูกตัดไฟอย่างไม่ทันตั้งตัว


โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ในครอบครัวมีผู้ป่วยติดเตียงสามารถติดต่อสำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อลงทะเบียนขอยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า(ไม่ตัดกระแสไฟฟ้า) พร้อมเอกสารต่อไปนี้


  1. หลักฐานแสดงสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสำเนาทะเบียนบ้าน
  2. ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล(อายุไม่เกิน 1 เดือน)
  3. บัตรประจำตัวของผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ป่วย
  4. เอกสารมอบอำนาจกรณีที่ไม่ได้ทำเรื่องเอง


เมื่อยื่นเอกสารแล้วจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสถานที่ใช้ไฟ และเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องยื่นลงทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิต่อเนื่องภายในวันที่ 31 มกราคม ของทุกปี และหากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว ต้องแจ้งยกเลิกการใช้สิทธิภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความจำเป็น


การยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า(ไม่ตัดกระแสไฟฟ้า) นี้ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องจ่ายค่าไฟ ค่าไฟจะยังถูกคำนวณและต้องจ่ายตามปกติ และไม่รวมถึงกรณีที่ไฟดับจากเหตุสุดวิสัยและภัยธรรมชาติ ดังนั้นที่บ้านของผู้ป่วยควรมีอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า(เครื่องสำรองไฟ UPS) ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย


ทั้งนี้ทางการไฟฟ้าสามารถยกเลิกสิทธิฯ ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ค้างชำระค่าไฟฟ้ารวมกัน 3 เดือน  
  • ตรวจพบการกระทำโดยมิชอบ/การละเมิดการใช้ไฟฟ้า   
  • แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ   
  • ตรวจพบผู้ป่วยยกเลิกการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ แต่ไม่มีการแจ้งยกเลิกใช้สิทธิ



ที่มา: การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง