5 อันดับมะเร็งคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดและวิธีการป้องกันโรคมะเร็ง
5 อันดับมะเร็งคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดและวิธีการป้องกันโรคมะเร็ง
รู้ไว้ไกลมะเร็ง! รู้หรือไม่ 5 อันดับโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดคือมะเร็งอะไรบ้าง ทำความเข้าใจโรคมะเร็ง, ส่อง 7 สัญญาณอันตรายที่อาจเกิดจากโรคมะเร็ง, และเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ห่างไกลโรค ในวันมะเร็งโลก 4 ก.พ.
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท)
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันมะเร็งโลก” (World Cancer Day) ที่ตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงการป้องกันและรักษามะเร็ง สำหรับประเทศไทยเองโรคมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปี
จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
และหากแยกตามเพศชาย-หญิง จะพบสถิติของโรคมะเร็งที่พบบ่อยดังนี้
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน ชายไทย
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี ร้อยละ 33.2
- มะเร็งปอด ร้อยละ 22.8
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ร้อยละ 18.7
- มะเร็งต่อมลูกหมาก ร้อยละ6.6
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้อยละ 6.6
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน หญิงไทย
- มะเร็งเต้านม ร้อยละ 34.2
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ร้อยละ 13.3
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี ร้อยละ 12.2
- มะเร็งปอดร้อยละ 11.5
- มะเร็งปากมดลูกร้อยละ 11.1
ด้วยวิทยาการปัจจุบันทำให้โรคมะเร็งแม้จะเป็นโรคที่ร้ายแรงมีอันตรายถึงชีวิต แต่หากผู้ป่วยหมั่นสังเกตตัวเอง มีการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ตรวจพบโรคมะเร็งได้เร็วขึ้น และมีโอกาสที่จะรักษาให้หายหรือให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้
สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้วางแนวทางในการสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ที่อาจเป็นอาการจากโรคมะเร็งไว้ดังนี้
7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง
- ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง: อาการท้องผูกสลับท้องเดินเรื้อรังอาจเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนัก, ปัสสาวะขัดเรื้อรังในผู้ชายอาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- แผลไม่รู้จักหาย: แผลเรื้อรังในช่องปากนานเกิน 2 สัปดาห์อาจเป็นมะเร็งช่องปาก, แผลเรื้อรังที่ผิวหนัง อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง, แผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ร่างกายมีก้อนตุ่ม: ก้อนที่เกิดเรื้อรังบริเวณรักแร้ ขาหนีบ คอ อาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, ก้อนที่เต้านม อาจเป็นมะเร็งเต้านม, ตุ่มหรือก้อนที่ผิวหนัง อาจเป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร: กลืนอาหารไม่ลง ติดขัด อาจเป็นมะเร็งหลอดคอหรือมะเร็งหลอดอาหาร, ท้องอืด ปวดท้องเรื้อรัง อาจเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหาร, น้ำหนักลด เบื่ออาหารไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นมะเร็งหลายชนิด
- ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล: เลือดออกทางช่องคลอดหรือมีตกขาวผิดปกติ อาจเป็นมะเร็งปากมดลูก, ถ่ายเป็นเลือดอาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, ปัสสาวะเป็นเลือด อาจเป็นมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ, เลือดกำเดาออกเรื้อรังอาจเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก, เลือดออกทางหัวนม อาจเป็นมะเร็งเต้านม
- ไฝหูดที่เปลี่ยนไป: ไฝหรือหูดที่โตเร็วผิดปกติ มีเลือดออก สีเปลี่ยนไป อาจเป็นมะเร็งผิวหนัง
- ไอและเสียงแหบจนเรื้อรัง: ไอเรื้อรังนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ อาจเป็นมะเร็งปอด, เสียงแหบเรื้อรังอาจเป็นมะเร็งหลอดคอหรือมะเร็งกล่องเสียง
โรคมะเร็งนั้นไม่เหมือนโรคติดเชื้อ ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน* แต่เป็นโรคที่ปัจจัยการเกิดมาจากการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย หนึ่งในวิธีป้องกันที่ดีคือการปรับพฤติกรรม ไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งในภายหลัง
*ยกเว้นมะเร็งปากมดลูก ที่การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ช่วยลดความเสี่ยงได้
10 เคล็ดลับปรับพฤติกรรม และใช้ชีวิตให้ห่างไกลโรคมะเร็ง
- งดสูบบุหรี่และอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและรับประทานอาหารอย่างสมดุล โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานผักผลไม้ที่หลากหลาย เน้นการรับประทานอาหารประเภทธัญพืชและอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- อย่ารับประทานอาหารที่หมดอายุหรือมีเชื้อรา
- ลด หรืองดเว้นการรับประทานอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง และหมักดอง
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรืออยู่ในที่มีแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาอุปกรณ์เพื่อช่วยป้องกันร่างกายหรือผิวหนังจากแสงแดด และควรทาครีมกันแดดทั้งผิวหน้าและผิวกาย
- ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆที่ทำให้เกิดความเครียด
- ตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำทุกปี
- หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการปกติซึ่งเป็นอาการของโรคมะเร็งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที
ภาคผนวก:อาการและข้อบ่งชี้เบื้องต้น 7 มะเร็งยอดฮิต
1.มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี
- โรคมะเร็งตับ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30- 70 ปี โรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ซึ่งกว่าจะได้รับการวินิฉัยก็มักจะอยู่ในท้ายโรคและไม่สามารถรับการรักษาได้ทัน ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุด มะเร็งตับมีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ การดื่มแอลกอฮอล์ รับสารพิษอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) การรับยาบางชนิด และพันธุกรรม เป็นต้น
- โรคมะเร็งท่อน้ำดี มักพบในเพศชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มาจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดแบบดิบ ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ อาการของโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดบริเวณท้อง มีไข้ คันบริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ไม่อยากอาหาร เบื่ออาหารมัน ๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
2.มะเร็งปอด
สาเหตุหลักของมะเร็งปอดมาจากการสูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่ โดยอาการเริ่มแรกมักมีการไอเสมหะหรือไอมีเลือด เจ็บหน้าอก หายใจดังและถี่ ความอยากอาหารลดลง เป็นต้น
3.มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงความผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระ คือ มักจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเก่า ๆ ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระมีขนาดเล็กหรือบางลง ซีด อ่อนเพลีย บางรายอาจจะมาด้วยอาการลำไส้อุดตัน น้ำหนักลดลงมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ และปวดเบ่งบริเวณทวารหนัก
4.มะเร็งต่อมลูกหมาก
พบได้มากในเพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติและรวดเร็ว จนกลายเป็นก้อนมะเร็งอุดตันทางเดินปัสสาวะในที่สุด อาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ "การปัสสาวะ" ซึ่งสามารถสังเกตอาการผิดปกติจากการปัสสาวะได้ เช่น ปัสสาวะนาน ปัสสาวะขัด ลำของปัสสาวะอ่อนแรง หรือปัสสาวะเป็นหยด ๆ ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ รู้สึกเจ็บปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ และหากอาการรุนแรงอาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ
5.มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของระบบต่อมน้ำเหลือง และความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว อาการของต่อมน้ำเหลืองที่ผิดปกติอาจเริ่มจากการบวมที่สามารถเห็นหรือสัมผัสได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลืองอยู่ใกล้ผิวหนัง เช่น บริเวณคอ ข้อพับแขน ข้อพับขา หรือบริเวณขากรรไกร การบวมของต่อมน้ำเหลืองมักเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในร่างกาย เช่น การติดเชื้อหวัด หรือการติดเชื้อในช่องปากหรือฟัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น มะเร็งหรือโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
6.มะเร็งเต้านม
พบมากในผู้หญิงตั้งแต่วัยสาวเป็นต้นไป โดยสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมมีหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ อายุ มีประจำเดือนตอนอายุน้อย ๆ หรือหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมในประเทศไทยส่วนมากจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาก้อนที่เต้านม ซึ่งอาจมีขนาดของก้อนแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามการมีก้อนที่เต้านมในผู้หญิงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป ก้อนในเต้านมส่วนมากไม่ใช่มะเร็ง จากสถิติพบว่าถ้าพบก้อนที่เต้านมในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเพียง 1.4% แต่ถ้าพบก้อนในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงถึง 58% ดังนั้น หากคลำพบก้อนที่เต้านมแม้ว่าจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาตามความเหมาะสม
7.มะเร็งปากมดลูก
พบได้บ่อยในผู้หญิง เกิดได้กับผู้หญิงทุกคนที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส HPV มะเร็งปากมดลูก ในระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็ง จะไม่มีอาการใด ๆ เลย หากมีอาการแสดงว่าโรคได้ดำเนินไปมากแล้ว เช่น มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ประจำเดือนมานานผิดปกติ มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว มีตกขาวมากและมีกลิ่นผิดปกติ
ที่มา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต, โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ, โรงพยาบาลพิษณุเวช, หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง