เจอน้ำร้อนลวกอย่าตกใจ ทำตามนี้ลดความเสี่ยงติดเชื้อ
เจอน้ำร้อนลวกอย่าตกใจ ทำตามนี้ลดความเสี่ยงติดเชื้อ
![https://firebasestorage.googleapis.com/v0/b/workpoint-3e66e.appspot.com/o/users%2FU29ce8cdc1624438b8e915ce5dbd8f42a%2Fca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg?alt=media&token=ca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg](https://firebasestorage.googleapis.com/v0/b/workpoint-3e66e.appspot.com/o/users%2FU29ce8cdc1624438b8e915ce5dbd8f42a%2Fca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg?alt=media&token=ca4477aa-41e2-4cdc-9c1a-3c6b00be2d20.jpg)
ใครถูกน้ำร้อนลวกอย่าเพิ่งตกใจ รีบปฐมพยาบาลตามนี้ก่อนไปโรงพยาบาล ลดโอกาสติดเชื้อจากบาดแผล
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)
อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะแผลน้ำร้อนลวกที่มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในได้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและมีสติ การรักษาอย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและบรรเทาอาการปวด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลโดยตรง และปรึกษาแพทย์หากแผลรุนแรงหรือมีอาการที่ไม่ดีขึ้น
บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แบ่งเป็น 3 ระดับ โดยดูจากดีกรีความลึกของบาดแผล
- ดีกรีความลึกระดับ 1 คือ บาดแผลอยู่แค่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยปกติจะหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น
- ดีกรีความลึกระดับ 2 คือ บาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังแท้ บาดแผลประเภทนี้ถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความลึกของบาดแผลจากอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดร่องรอยผิดปกติของบริเวณผิวหนัง หรืออาจมีโอกาสเกิดแผลเป็นแผลหดรั้งตามได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
- ดีกรีความลึกระดับ 3 คือ ชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายด้วยความร้อน บาดแผลเหล่านี้มักจะไม่หายเอง มีแนวโน้มการติดเชื้อของบาดแผลสูง และมีโอกาสเกิดแผลหดรั้งตามมาสูงมาก ถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า ปากและคอ
- ใช้น้ำสะอาดหรือผ้าชุบน้ำวางบริเวณบาดแผล เพื่อลดความ ร้อน เป็นเวลานานอย่างน้อย 10 นาที หรือจนกว่าอาการปวด แสบร้อนจะลดลง
- คลายเสื้อผ้าบริเวณรอบคอและหน้าอก เพื่อให้หายใจได้สะดวก
- ป้องกันอาการช็อก โดยห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น และยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเล็กน้อย
- รีบนำส่งโรงพยาบาล
แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณอื่น
- ใช้นํ้าสะอาดหรือผ้าชุบน้ำวางบริเวณบาดแผล เพื่อลด ความร้อน เป็นเวลานานอย่างน้อย 10 นาที หรือจนกว่า อาการปวดแสบร้อนจะลดลง
- ถอดเครื่องประดับที่ใส่อยู่ เช่น กำไล สายข้อมือ ออก
- ปิดหรือพันแผลด้วยผ้าสะอาด
- ถ้าเป็นที่มือ หรือเท้า อาจใช้ถุงพลาสติกที่สะอาดหุ้ม
- นําส่งโรงพยาบาล
ข้อควรระวัง
ห้ามใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นราดแผลเพราะจะขัดขวางการไหลเวียนเลือด ห้ามดึงสิ่งที่ติดแผลออก เพราะอาจทำให้แผลลึกและเลือดออกมากขึ้น ห้ามจับแผลหรือทำให้ตุ่มพุพองแตก เพราะเสี่ยงติดเชื้อ ห้ามทายา โลชัน หรือยาสีฟัน เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อ ห้ามถอดเสื้อผ้า หากจำเป็นให้ตัดออก และห้ามใช้ผ้าที่มีขนหรือสำลีปิดแผล เพราะจะทำให้ขนติดแผล
แหล่งอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล