ฮือฮา! เปิดตำนาน "ไฮยีนา" ในกระบี่ ซากดึกดำบรรพ์ยุคสะวันนา 2 แสนปี

ฮือฮา! เปิดตำนาน "ไฮยีนา" ในกระบี่ ซากดึกดำบรรพ์ยุคสะวันนา 2 แสนปี

46809 ก.พ. 68 20:48   |     Tum1

นักธรณีวิทยา พบซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาลายจุด ภายในถ้ำโต๊ะช่อง เมืองกระบี่ เผยหลักฐานสำคัญชี้ว่าเมื่อ 2 แสนปีก่อน พื้นที่กระบี่เคยเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ไม่ใช่ป่าฝนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

วันที่ 9 ก.พ.68 ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมนักธรณีวิทยาและชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ซึ่งพบฟอสซิลฟัน กราม และกระดูกของสัตว์หลายชนิด เช่น ไฮยีนา , อุรังอุตัง , กวางป่า , เม่น , หมู และวัว ซุกซ่อนอยู่ตามผนังและพื้นถ้ำ 

จากการคาดคะเนเบื้องต้น ซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้มีอายุระหว่าง 80,000 - 200,000 ปี ซึ่งตรงกับช่วงปลายยุคไพลสโตซีนตอนล่างถึงต้นไพลสโตซีนตอนปลาย การพบซากไฮยีนาลายจุดในกระบี่ ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ เพราะเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ครั้งหนึ่งไฮยีนาเคยกระจายตัวลงมาถึงจุดใต้สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 



ทีมวิจัยยังได้ใช้เทคนิควิเคราะห์ไอโซโทปของธาตุคาร์บอนและออกซิเจน จากฟอสซิลที่เคยขุดพบในถ้ำยายรวก อ.อ่าวลึก พบว่า พื้นที่กระบี่ในยุคไพลสโตซีน เป็นทุ่งหญ้าสะวันนาสลับกับป่าทึบ ไม่ใช่ป่าฝนหนาแน่นแบบปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เดินทางอพยพสู่หมู่เกาะต่างๆ 

นอกจากนี้ นักวิจัยสันนิษฐานว่า ไฮยีนาในอดีตอาจแพร่กระจายลงมาถึงภาคใต้ของไทยได้ เพราะเส้นทางสะวันนาถูกคั่นด้วยป่าฝนในบริเวณ ซุนดาแลน (Sundaland) ซึ่งเชื่อมต่อคาบสมุทรไทย-มาเลเซียในช่วงยุคน้ำแข็ง 


ปัจจุบัน ไฮยีนา พบได้เฉพาะในทุ่งหญ้าสะวันนาแอฟริกาเท่านั้น แต่การค้นพบครั้งนี้อาจช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก และพฤติกรรมการอพยพของสัตว์ในอดีต ทีมวิจัยเตรียมตรวจสอบซากเพิ่มเติม เพื่อระบุอายุที่แน่ชัดและศึกษาร่องรอยวิวัฒนาการของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในไทยต่อไป - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน



ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง :


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง