ย้อนเส้นทางชีวิต ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

ย้อนเส้นทางชีวิต ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

82406 ก.พ. 68 15:07   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ย้อนเส้นทางชีวิต ‘ดร.พิรงรอง รามสูต’ อาจารย์มหาวิทยาลัยดัง สู่การเป็นคณะกรรมการ กสทช. กับบทบาทเด่นโหวตคัดค้าการควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ก่อนจะถูกสั่งจำคุก 2 ปี เหตุเพราะออกใบเตือนเรื่องการแทรกโฆษณาใน ‘ทรูไอดี’

(เรียบเรียงโดย กัญญาณัฐ อาศัย)

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต เกิดในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เป็นบุตรสาวของศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ ธีระ รามสูต (ข้าราชการบํานาญ) และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พันธุ์ทิพย์ รามสูต (ข้าราชการบํานาญ) มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ได้แก่ พี่ชายคนโต คือ ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ราม รามสูต และพี่ชายคนกลาง คือ นายแพทย์พชร รามสูต

 

ทางด้านการศึกษา ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต สำเร็จการศึกษามัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในระดับปริญญาตรีได้สำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะอักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ M.A. (Communication) University of Hawaii at Manoa ประเทศสหรัฐอเมริกา และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ Ph.D. (Communication) Simon Fraser University ประเทศแคนาดา

 

ส่วนทางด้านการทำงาน ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต เริ่มต้นทำงานในอาชีพนักข่าวและผู้เรียบเรียงข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation (ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2533) หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อก่อนจะกลับมาเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน) และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2563) นอกจากนั้นยังเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายสื่อในระดับประเทศและนานาชาติและการผลักดันนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ โดยมีผลงานโดดเด่นหลายด้าน และยังเป็น 2 ใน 7 เสียงคัดค้านการควบรวมกิจการของ “ทรู-ดีแทค” เพราะเห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

นอกจากนี้ ยังทำระบบ Social Credit ติดตามเนื้อหาคอนเทนต์ที่เป็นปัญหา เช่น เรื่องโป๊เปลือย เซ็กซ์ โฆษณาแฝง รวมถึงติดตามเนื้อหาเชิงบวกที่ส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายที่อาจถูกมองข้าม เช่น เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTQ+ ใครทำเนื้อหาเหล่านี้จะได้คะแนนเพิ่ม ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตสื่อระมัดระวังในการนำเสนอ และเป็นแรงจูงใจให้ผลิตคอนเทนต์ดี ๆ ออกมาเพื่อให้ได้รับ Social Credit ที่ดีตามไปด้วย

 

ล่าสุดในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน ได้มีคำพิพากษาจำคุก ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต เป็นเวลา 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีที่บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดยื่นฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ กสทช. ได้ออกหนังสือเตือนผู้ประกอบการโทรทัศน์เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎ Must Carry ซึ่งห้ามการแทรกโฆษณาในสัญญาณที่นำไปออกอากาศ ก่อนที่ศาลจะให้ประกัน ศ.ดร.พิรงรอง ไป โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 120,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ 

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง