เช็คอุณหภูมิการเมืองไทย 5 ข่าวใหญ่ 2567
เช็คอุณหภูมิการเมืองไทย 5 ข่าวใหญ่ 2567
เช็คอุณหภูมิร้อนการเมืองไทยปี 2567 ปีแห่งการสลับขั้ว ย้ายค่าย และความเปลี่ยนแปลง กับประมวล 5 ข่าวใหญ่แห่งปี
2567 เป็นอีกปีที่มีการเปลี่ยนแปลงของแวดวงการเมืองไทย ปีแห่งการสลับข้าง ย้ายขั้ว ชนิดที่ผู้ชมอึ้ง กรรมการก็อึ้ง และยังเป็นปีแห่งการพิสูจน์ความสามารถ ความเป็นผู้นำ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไปพร้อมๆ กัน แต่นอกจากเรื่องร้อนๆ แล้ว ปีนี้ก็มีเรื่องดีๆ ที่เราได้เห็นรัฐสภาไทยจับมือกันผลักดันกฎหมายสำคัญเพื่อคนไทยอีกด้วย ข่าวเวิร์คพอยท์23 รวบรวม 5 ข่าวใหญ่การเมืองไทย มาให้คุณผู้อ่านได้ย้อนอ่านกัน
เกือบหลับแต่ยังกลับมาได้ EP.2: ยุบก้าวไกล ประชาชนผงาด
สำหรับพรรคก้าวไกล ปี 2567 คงเป็นปีที่ไม่ดีนักทั้งกับตัวพรรคและกับฐานเสียง กับคดีการหาเสียงด้วยนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ยืดเยื้อมาจากปี 2566 หลังจากถูก ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ) ยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบเอาผิดหลายครั้ง
ในวันที่ 31 ม.ค. 67 ผ่านปีใหม่ไปยังไม่ถึง 1 เดือนดี ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยแบบเป็นเอกฉันท์ ว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำทั้งหมดทันที
แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีมติเอกฉันท์ส่งคำร้องพร้อมความคิดเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญซ้ำให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 92 (1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
ก่อนที่วันที่ 7 ส.ค. 67 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอีกครั้งว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้นเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 11 คน เป็นเวลา 10 ปี ส่วน สส.ที่เหลืออีก 143 คน ต้องย้ายไปอยู่พรรคใหม่ภายใน 60 วัน
ซึ่งพรรคสีส้มก็ไม่ปล่อยให้กองเชียร์ต้องรอนาน วันรุ่งขึ้นหลังจากพรรคถูกยุบ สส.ทั้ง 143 คน ก็ย้ายเข้าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลกันแบบไม่มีแตกแถว และวันถัดมา(9 ส.ค.) ก็มีการประชุมใหญ่พรรค เพื่อเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคประชาชน และที่ประชุมมีมติรับรอง ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ เท้ง นักการเมืองรุ่นใหม่อายุเพียง 37 ปี ขึ้นนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดนเขาประกาศตัวพร้อมชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2570
การเปิดตัวของพรรคประชาชนได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ทั้งยอดผู้สมัครสมาชิกพรรคและเงินบริจาคเพื่อให้พรรคสามารถทำกิจกรรมต่อไป นอกจากนี้พรรคยังเปิดแคมเปญ “เท้งทั่วไทย” ให้หัวหน้าพรรคได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนและขยายฐานเสียงของพรรคออกไป เพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งครั้งหน้า
แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ทั้งจากคนนอกและจากฐานเสียงของพรรคว่าแคมเปญนี้ รวมถึงตัวของนายณัฐพงศ์ หัวหน้าพรรคเอง ดูจะยังไม่เข้าตาประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแพรวพราวและคาริสมาจัดเต็ม ขณะที่บางส่วนก็มองว่า ณัฐพงศ์ยังต้องรอเวลาที่จะได้ขัดเกลาให้เปล่งประกายในเวทีการเมืองอยู่
ปี 2568 คงเป็นอีกปีที่พรรคประชาชนและณัฐพงศ์ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อประกันชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2570 แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นยังมีอีก 1 ด่านหินที่รออยู่ นั่นคือคดี 44 สส. ของพรรคก้าวไกลเดิมที่ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีนัดจะชี้ชะตาในเดือน ม.ค. 68 ที่จะถึงนี้
เด้งนายกฯ ฟ้าผ่า และรัฐบาลเพื่อไทยที่หนีไม่พ้นเงา “ทักษิณ”
ช่วงต้นปี - กลางปี ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญได้จับงานร้อน งานใหญ่พร้อมกันถึง 2 เรื่อง นั่นก็คือคดียุบพรรคก้าวไกล และคดีถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีทูลเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข้อวิจารณ์ถึงความเหมาะสม เนื่องจากพิชิตเคยมีคดี “ถุงขนม” อันลือลั่น เมื่อครั้งเป็นทนายความให้ครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว เมื่อคราวสู้คดีที่ดินรัชดา ทำให้กลุ่ม สว.เข้าชื่อกันยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิชิต และลากยาวขึ้นไปถึงคุณสมบัติของเศรษฐา ว่าการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ทำให้เศรษฐาขาดคุณสมบัติด้วยหรือไม่
สำหรับคดียุบพรรคก้าวไกล เป็นคดีที่หลายฝ่ายมองว่าคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะจบอย่างไร แต่คดีของเศรษฐานั้นต่างออกไป เสียงวิจารณ์แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่มองว่าเขาน่าจะมีโอกาสรอดสูง เพราะเรื่องคดีของพิชิตนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นคดีลหุโทษ เป็นเรื่องของการหมิ่นศาล และที่ผ่านมาพิชิตเองก็เคยเป็น สส.มาแล้ว รวมถึงมองในปัจจัยที่เพื่อไทยยังเป็นรัฐบาล มีการประสานอำนาจ ประสานความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลได้ดีอยู่ ไม่น่าจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น กับอีกฝ่ายที่มองว่าเรื่องมันก็ไม่แน่เสมอไป
กระทั่งวันที่ 14 ส.ค. 67 ก็มีฟ้าผ่าเหนือทำเนียบรัฐบาล เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เศรษฐากลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย ที่ถูกถอดจากตำแหน่งโดยศาลรัฐธรรมนูญ ต่อจากสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 11 เดือน 23 วัน เท่านั้น
หลังเศรษฐาหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็เกิดกระแสข่าวคาดเดาถึงความเป็นไปได้เรื่องนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในขณะนั้นเพื่อไทยเหลือตัวเล่นในมืออีก 2 คน คือ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้องของอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือจะเป็นผู้อาวุโสอย่าง ศ.พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ หรือจะมีการพลิกขั้วเปลี่ยนมือพรรคที่ได้ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่
ในเย็นวันเดียวกับที่มีการถอดถอนเศรษฐา ประตูบ้านจันทร์ส่องหล้าก็เปิดออก แกนนำพรรครัฐบาลต่างเข้าหารือเรื่องรายชื่อที่จะเสนอจ่อสภาให้รับรองเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หลังหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง ก็มีข่าวแว่วมาว่าที่ประชุมเคาะชื่อชัยเกษม แต่หลังจากนั้นเพียงวันเดียว ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยก็พลิกมติอีกครั้ง เนื่องจากห่วงเรื่องปัญหาสุขภาพของชัยเกษม ที่เคยป่วยหนักกระทันหันมาแล้วเมื่อครั้งที่เดินสายหาเสียง
ทำให้ในวันที่ 16 ส.ค. 67 พรรคเพื่อไทยจึงเสนอชื่อของแพทองธารให้ที่ประชุมรับรอง และได้คะแนนเห็นชอบ 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง และไม่มาประชุม 2 คน คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้แพทองธารได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของไทย ต่อจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาหญิงของเธอ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเธอมีอายุเพียง 37 ปี 361 วัน ในวันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
หลังการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร นอกจากเรื่องความสามารถในการบริหารงานที่ตัวเธอต้องพิสูจน์ ก็ทำให้เงาของ ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยยิ่งแจ่มชัดขึ้น ทักษิณ เริ่มเดินสายพูดตามเวทีต่างๆ ถึงนโยบายที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะทำต่อไป และมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ลงไปช่วยเวทีหาเสียงนายก อบจ. ตามจังหวัดหัวเมืองที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทย
ในปีนี้สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายาให้รัฐบาลของแพทองธารว่า “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” เพื่อสะท้อนบทบาทของทักษิณที่มีต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อไทย ในปีหน้าแพทองธาร ยังคงต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อลบคำปรามาสที่สังคมมีต่อบทบาทและสถานะผู้นำประเทศของเธอ
อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น: เพื่อไทยสลัดพลังประชารัฐ จับมือประชาธิปัตย์คู่แค้น
การปล่อยมือพรรคก้าวไกล และเลือกจับกับขั้วรัฐบาลเดิมของพรรคเพื่อไทย เมื่อคราวจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เมื่อปี 2566 อาจเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจกับผู้ที่ติดตามการเมือง แต่นี่เทียบไม่ได้กับการสลับขั้วในปี 2567
ในวันที่ 28 ส.ค. 67 ก่อนการทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรีรัฐบาลอุ๊งอิงค์ 1 ก็มีข่าวใหญ่ชนิดที่หลายคนอุทานออกมาว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น” เมื่อสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นคนไปส่งเทียบเชิญให้กับพรรคที่เป็นคู่แค้นกันมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษอย่างพรรคประชาธิปัตย์ โดยสรวงศ์ พูดถึงการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่าขอให้อดีตก็เป็นเรื่องของอดีต เรื่องที่ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไปแล้ว ประเทศต้องเดินหน้าต่อ และเชื่อว่าคนเสื้อแดงจะเข้าใจว่าที่ทำไปนั้นเป็นไปเพื่อประชาชน
ขณะที่ฝั่งของประชาธิปัตย์เองก็มีกลุ่มในพรรคที่คัดค้านการจับมือกับพรรค เช่น ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ บัญญัติ บรรทัดฐาน แต่ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมติพรรคออกมาเช่นนี้ ก็ต้องว่ากันตามมติพรรค และประชาธิปัตย์เองก็พร้อมที่จะร่วมจับมือเป็นรัฐบาลด้วยกันกับเพื่อไทย
เมื่อมี 1 พรรคมาใหม่ ก็ต้องมี 1 พรรคที่ไป และหวยก็มาออกที่พลังประชารัฐ ความขัดแย้งระหว่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ มีให้เห็นประปรายตั้งแต่สมัยของนายกฯเศรษฐา โดยมีการวิเคราะห์กันว่าความต้องการของหัวเรือใหญ่พลังประชารัฐ อย่าง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ คงไม่หยุดอยู่ที่การเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น
ในช่วงเดือน มิ.ย. 67 ความขัดแย้งเริ่มแจ่มชัดขึ้น เมื่อทักษิณ พูดในงานบวชลูกชายของนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี พาดพิงถึง “คนในป่า” เป็นสาเหตุของความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนั้น ซึ่งสังคมก็แปลความหมายของทักษิณว่าหมายถึง บิ๊กป้อม แห่งบ้านป่ารอยต่อฯ นั่นเอง
ความขัดแย้งมาถึงจุดแตกหักเมื่อในรัฐบาลของแพทองธาร ไม่ปรากฎชื่อของพลังประชารัฐ แต่ที่แตกหักไม่ได้มีแค่เพื่อไทยกับพลังประชารัฐเท่านั้น แต่ยังมีการแตกหักของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับพลังประชารัฐด้วย
ในรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ แพทองธาร ทูลเกล้าฯ ปรากฏชื่อรัฐมนตรีที่อยู่ในโควต้าของผู้กองธรรมนัสถึง 3 คน และวันที่ 3 ก.ย. 67 ในระหว่างการประชุมสภาเพื่อพิจารณา ร่าง พรบ.งบประมาณปี 2568 ร.อ.ธรรมนัส และ สส.พลังประชารัฐ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันส่วนหนึ่ง ย้ายที่นั่งในสภาไปอยู่ในฝั่งของ สส.เพื่อไทย และเสียงโหวตมาตรา 4 ของ ร่าง พรบ.ของพลังประชารัฐก็แตกออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน คือฝั่งของ ร.อ.ธรรมนัส และ ฝั่งของ พล.อ.ประวิตร
หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้ง 2 กลุ่มก็แยกห่างจากกันมากขึ้น ในวันที่ 11 ธ.ค. 67 พรรคพลังประชารัฐมีมติขับ สส.กลุ่มธรรมนัสทั้ง 20 คนออกจากพรรค เหตุจากแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรคท่านอื่น เกินกว่าจะแก้ไขและทำความเข้าใจให้เป็นไปแนวทางเดียวกันได้ และในวันถัดมา ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารและ สส. ก็ได้มีมติขับ สส. กลุ่มธรรมนัสทั้ง 20 คนออกจากพรรคตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเป็นทางการ
เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ สส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสหนักใจแต่อย่างไร ทั้งหมดได้ย้ายชื่อเข้าพรรคกล้าธรรม ที่มีชื่อ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากโควต้าของ ร.อ.ธรรมนัส นั่งเป็นหัวหน้าพรรค เป็นการตัดขาดความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการในที่สุด
20 ปี “ตากใบ” เมื่อความยุติธรรมหมดอายุ
เผือกร้อนชิ้นใหญ่ ที่เริ่มต้นในสมัยของพ่อ และจบลงในสมัยของลูก เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “คดีตากใบ” ย้อนกลับไปในเดือน ต.ค. 47 ขณะที่สถานการณ์ชายแดนใต้คุกรุ่น ตำรวจตากใบได้จับกุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูเว หมู่5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 6 คน โดยกล่าวหาว่า ชรบ. ทั้ง 6 คนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยักยอกอาวุธปืนลูกซองเพื่อนำไปใช้ก่อความไม่สงบในพื้นที่
วันที่ 25 ต.ค. 47 ชาวบ้านในพื้นที่หลายพันคน รวมคัวชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ กดดันให้ตำรวจปล่อยตัว ชรบ. ทั้ง 6 คน การชุมนุมครั้งนั้นจบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง มีการจับผู้ร่วมชุมนุมไปประมาณ 1,370 คน มีผู้เสียชีวิตในที่ชุมคน 6 ราย
เจ้าหน้าที่ให้ผู้ถูกจับกุมนอนคว่ำ มัดมือไพล่หลัง และเรียงทับกันหลายชั้นในรถบรรทุก เพื่อนำตัวไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่อยู่ห่างออกไปราว 150 กิโลเมตร การเคลื่อนย้ายดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากถูกทับและขาดอากาศหายใจมากถึง 85 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่หลังถูกสอบสวนแล้วก็ถูกปล่อยโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา มีเพียง 58 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ารวมตัวชุมนุมโดยผิดกฎหมาย
คดีนี้เป็น 1 ในคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนคดีใหญ่ของไทย แม้จะมีการเรียกร้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อทวงความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต แต่เรื่องกลับไม่เดินหน้าไปไหน
ผ่านไปเกือบ 20 ปี วันที่ 13 ธ.ค. 66 ที่ประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ 2547 โดยประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีนี้ เพราะคดีนี้ยังไม่มีความคืบหน้าและใกล้จะหมดอายุความ เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจงว่าในขณะนี้ไม่พบสำนวนคดี จึงไม่สามารถดำเนินการต่อในทางกฎหมายได้ ท้ายที่สุดทาง กมธ. มีมติทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทำการเร่งรัดความคืบหน้าของคดีนี้ โดยทางสำนักงานอัยการภาค 9 และตำรวจภูธรภาค 9 ได้ขอเวลาติดตามสำนวนภายใน 30 วันนับจากวันที่ประชุม
วันที่ 25 เม.ย. 67 คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการอีกครั้ง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนคดีอาญาของสถานีตํารวจภูธรหนองจิก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจนถึงขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของอัยการสูงสุด โดยผู้เสียหายจํานวน 48 ครอบครัว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวต่อศาลจังหวัดนราธิวาส หลังศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องเสร็จสิ้นได้มีการประทับรับฟ้องในวันที่ 23 ส.ค. 67 โดยนัดสอบคำให้การจำเลยครั้งแรกในวันที่ 12 ก.ย. 67
1 ในจำเลยที่ถูกยื่นฟ้องในครั้งนี้มีชื่อของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็น สส.ของพรรคเพื่อไทย รวมอยู่ด้วย หลังมีการนัดสอบคำให้การแต่ฝ่ายจำเลยไม่มีใครมารายงานตัว ทำให้ต่อมาศาลออกหมายจับจำเลยทุกราย รวมถึง พล.อ.พิศาล ด้วย
มีการไถ่ถามไปยังพรรคเพื่อไทย ที่เป็นต้นสังกัดของอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ถูกออกหมายจับหลายครั้ง พร้อมร้องขอให้ช่วยติดตามตัวของ พล.อ.พิศาลมาขึ้นศาล เพราะหากในวันที่ 25 ต.ค. ไม่มีจำเลยมาขึ้นศาล คดีดังกล่าวจะหมดอายุความในทันที แต่หากมีจำเลยเพียงคนเดียวมาปรากฏตัว จะทำให้ศาลสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้
กระทั่งวันที่ 15 ต.ค. 67 เพียง 10 วันก่อนคดีจะหมดอายุความก็มีข่าวออกมาว่า พล.อ.พิศาลได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยในหนังสือลาออก พ.อ.พิศาลระบุว่าตนอยู่ในระหว่างการรักษาอาการป่วย และพักฟื้น ตนไม่ต้องการให้มีคนนำเรื่องของตนไปขยายความขัดแย้งในสังคม จึงขอลาออกจากการเป็น สส. และลาออกจากพรรค เพื่อไม่ให้พรรคได้รับผลกระทบ และจะกลับมาชี้แจงด้วยตัวเองเมื่ออาการป่วยทุเลาลง
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นการ “แสดงสปิริตความเป็นลูกผู้ชาย” และเมื่อ พล.อ.พิศาล ลาออกและขาดจากความเป็น สส.แล้ว หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจและศาลที่จะต้องดำเนินการ พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องทำอะไรอีก จึงไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น
ท้ายที่สุด ในวันที่ 25 ต.ค. 67 คดีตากใบก็หมดอายุความไป จากการที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาตัวจำเลยมาขึ้นศาลได้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่รอคอยมาถึง 20 ปี ไม่ได้แม้แต่จะต่อสู้ด้วยกระบวนการทางศาล หลายฝ่ายมีความกังวลถึงสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ที่อาจปะทุขึ้นมาอีกในอนาคต จากความยุติธรรมที่หมดอายุไปในปีนี้ก็เป็นได้ และนี่จะเป็นอีกหนามที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทิ่มแทงพรรคเพื่อไทยต่อไปอย่างแน่นอน
ได้เวลาเฉลิมฉลอง! รัฐสภาจับมือผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ชาติแรกในอาเซียน
ไม่ได้มีแต่เรื่องชวนเครียด แต่ปีนี้ในหน้าข่าวการเมืองก็มีเรื่องให้ชวนดีใจและมองเห็นถึงความหวังในเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยด้วยเหมือนกัน กับการจับมือกันของสภาล่าง-สภาสูง ในการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแบบฉลุยทั้ง 2 สภา
การต่อสู้เรื่องสิทธิในการสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันในไทยนั้นมีมายาวนานหลายสิบปี ในแง่ของกฎหมายมีการเสนอแนวคิดที่จะอนุญาตให้คู่รักชาย-ชาย และหญิง-หญิง สมรสกันได้ ตั้งแต่ปี 2544 ในสมัยของนายทักษิณ ชินวัตร โดยผู้เสนอคอง ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น แต่เรื่องดังกล่าวถูกตีตกไปเนื่องจากกระแสสังคมที่ออกมาต้าน
จากนั้นช่วงปี 2555-2556 มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการให้สิทธิที่ไม่ครอบคลุมเท่าการสมรสของคู่ชาย-หญิง ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะต้องพับไปหลังการรัฐประหารในปี 2557
จนช่วงปี 2563 พรรคก้าวไกลได้กลับมาเสนอกฎหมายนี้อีกครั้ง ในชื่อของ พรบ.สมรสเท่าเทียม แต่เพราะเกมของสภาที่มีการยื้อกันไปมา สุดท้าย ร่าง พรบ.สมรสเท่าเทียม ก็ตกไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ
กระทั่งการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของเศรษฐา ทวีสิน ที่มีสนับสนุนเรื่องสิทธิเพศหลากหลายอย่างเปิดเผย วันที่ 21 ธ.ค. 66 ร่าง พรบ.สมรสเท่าเทียม จำนวน 4 ฉบับ ของ ครม., พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์, และของภาคประชาชน ถูกหยิบยกเข้าสภาฯ อีกครั้ง โดยครั้งนี้สภาฯ ลงมติรับหลักการร่างในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนรับหลักการ 369 คน ไม่รับหลักการ 10 คน งดออกเสียง 0 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน
27 มี.ค. 67 ที่ประชุมสภาฯ มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมสภา มีมติเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง
จากนั้นเรื่องถูกส่งต่อไปพิจารณาในวุฒิสภา มีการขอแปรญัตติเพียงเล็กน้อย ในเรื่องของวันที่บังคับใช้ และเรื่องของถ้อยคำ เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ที่เฝ้ารอติดตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมอยู่
ก่อนที่จะมีข่าวดีในเดือน Pride เดือนแห่งการรณรงค์เพื่อสิทธิของ LGBTQ+ เมื่อที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 ผู้ลงมติ 152 เสียง ในวันที่ 18 มิ.ย. 67 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายรับรองสิทธิการสมรสให้กับคู่รักเพศเดียวกัน ได้เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ
และในวันที่ 24 ก.ย. 67 ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ม.ค. 68 ที่จะถึงนี้