สถิติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พุ่งกระฉูด เลือกใช้ถุงยางให้ถูกต้องลดความเสี่ยง

สถิติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พุ่งกระฉูด เลือกใช้ถุงยางให้ถูกต้องลดความเสี่ยง

101530 พ.ค. 68 12:50   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

สถิติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นไทยพุ่งกระฉูด รู้จัก เลือก-เก็บ-ใช้-ทิ้ง ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี ก่อนต้องเสียใจ

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้ออื่นๆ เข้าสู่ร่างกาย เช่น หนองใน (Gonorrhea),  หนองในเทียม (Chlamydia),  เริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes), การติดเชื้อ HIV, การติดเชื้อ HPV,  โลน (Pubic lice),  ซิฟิลิส (Syphilis),  พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis), ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) ฯลฯ โดยมีสาเหตุหลักของการติดและแพร่เชื้อต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย


นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบว่าปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ ถึง 10,879 คน เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 59 ที่พบอัตราป่วย 47.35 ต่อแสนประชากร เป็น 96.87 ต่อแสนประชากร ในปี 67 สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับประเทศ 57.12 ต่อแสนประชากร


สถิติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในพื้นที่ กทม. 2567

  • ซิฟิลิส 3,677 คน หรืออัตราป่วย 50.999 ต่อแสนประชากร 
  • หนองใน 24.97 ต่อแสนประชากร 
  • หูดหงอนไก่ 18.80 ต่อแสนประชากร 
  • หนองในเทียม 18.11 ต่อแสนประชากร 
  • เริม 15.22 ต่อแสนประชากร 

*ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 15-24 ปี


การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียวที่ไม่มีความเสี่ยงต่อโรค
  • ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • รักษาความสะอาดร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อต่างๆ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี


ทั้งนี้ไม่มีการป้องกันใดที่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 100% เนื่องจากบางโรคสามารถแพร่เชื้อได้หลายช่องทาง ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


4 ขั้นตอนใช้งานถุงยางอนามัยให้ปลอดภัยไร้กังวล

  1. “เลือก” ให้ถูกไซส์ ไม่ใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป
  2. “เก็บ” ในที่ที่ใช่ หลีกเลี่ยงความร้อน ความเย็นจัด แสงแดด และไม่เก็บในกระเป๋าสตางค์ ป้องกันการเสื่อมสภาพและฉีกขาด
  3. “ใช้” ให้ถูกสเต็ป ตรวจสอบสภาพซอง-วันหมดอายุ, ฉีกซองอย่างระมัดระวัง ไม่สะกิดโดนถุงยางขาด, บีบกระเปาะไล่ลมกันถุงยางแตกเมื่อเสียดสี, สวมให้ถูกด้านเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว, รูดสวมถุงยางอนามัยให้สุดโคนอวัยวะเพศ
  4. “ทิ้ง” ให้ถูกวิธี รีบถอดทันทีเมื่อใช้งานเสร็จ อย่ารออวัยวะเพศอ่อนตัว ใช้ทิชชู่จับที่ขอบถุงก่อนถอด และห่อกระดาษทิ้งให้เรียบร้อย



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง