รู้จัก ‘ทุงสะเทวี’ นางสงกรานต์ 2568 พร้อมคำทำนายปีใหม่ไทย

รู้จัก ‘ทุงสะเทวี’ นางสงกรานต์ 2568 พร้อมคำทำนายปีใหม่ไทย

153011 เม.ย. 68 15:57   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ย้อนรอยตำนานนางสงกรานต์ทั้ง 7 สัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์ไทย พร้อมอ่านคำทำนายปีใหม่ไทย 2568 ที่มาพร้อม ‘ทุงสะเทวี’ นางสงกรานต์ประจำปีนี้

(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)

ตามความเชื่อโบราณของไทย ในวันปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ นอกจากกิจกรรมทำบุญ รดน้ำดำหัว ขนทรายเข้าวัด รวมถึงการละเล่นสาดน้ำแล้ว อีก 1 องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือความเชื่อเรื่องนางสงกรานต์ 


โดยในปีนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ออกประกาศนางสงกรานต์ปี 2568 ทรงนามว่า “นางทุงสะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ


ทางด้านฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้ประกาศ สงกรานต์ 2568 ความว่า

“ปีมะเส็ง (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุไฟ) สัปตศก จุลศักราช 1387 ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 เวลา 04 นาฬิกา 28 นาที 28 วินาที


นางสงกรานต์ ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ


วันที่ 16 เมษายน เวลา 08 นาฬิกา 27 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1387 ปีนี้ วันศุกร์ เป็น ธงชัย, วันศุกร์ เป็น อธิบดี, วันพฤหัสบดี เป็น อุบาทว์, วันอาทิตย์ เป็น โลกาวินาศ


ปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว


เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร (ข้าว) พลาหาร (ผลไม้) มัจฉมังสาหาร (เนื้อสัตว์) จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์ แลเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก”


คำทำนายสงกรานต์ 2568

ในปีนี้ วันที่ 14 เมษายน ถือว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ที่ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 เวลา 04 นาฬิกา 28 นาที 28 วินาที ไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแลฯ, วันจันทร์ เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ, วันพุธ เป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมากแลฯ, นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี


ประวัตินางสงกรานต์

ความเชื่อโบราณเล่าว่า นางสงกรานต์ทั้ง 7 เดิมทีเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช เป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์ และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมเทพผู้เป็นตัวแทนแห่งพระอาทิตย์


กาลครั้งหนึ่งท้าวกบิลพรหมเทพได้ท้าทายทดสอบความสามารถกับธรรมบาลกุมาร ด้วยคำถาม 3 ข้อ คือ ในตอนเช้าราศีของคนอยู่ที่ใด, ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่ที่ใด, และตอนค่ำราศีของคนอยู่ที่ใด โดยท้าวกบิลพรหมได้ให้เวลาธรรมบาลกุมาร 7 วัน หากตอบไม่ได้จะต้องถูกตัดคอ


ธรรมบาลกุมารพยายามคิดหาคำตอบจนวันที่ 6 แล้วก็ยังไม่รู้ว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร ขณะที่นั่งพักใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง ก็ได้ยินนก 2 ผัวเมียพูดคุยกันเรื่องคำถามและชะตากรรมของตนในวันพรุ่งนี้ที่จะถูกตัดคอ แล้วบังเอิญได้ยินที่นกตัวผู้บอกนกตัวเมียถึงคำตอบที่ถูกต้องว่า ในยามเช้าราศีของคนอยู่ที่ใบหน้า คนตื่นมาแล้วจึงต้องวักน้ำล้างล้างหน้า, ส่วนตอนเที่ยงราศีอยู่ที่อก จึงต้องประพรมเครื่องหอมที่อก, และในตอนค่ำ ราศีอยู่ที่เท้า จะต้องตักน้ำล้างเท้าก่อนจะเข้านอน


สุดท้ายธรรมบาลกุมารนำคำตอบดังกล่าวไปตอบท้าวกบิลพรหม ฝ่ายท้าวกบิลพรหมได้รับความพ่ายแพ้ จึงโดนลงโทษด้วยการตัดคอ จึงเรียกนางสงกรานต์ทั้ง 7 ธิดาของตนออกมาเพื่อรอรับหัวของตน เพราะ หัวของท้าวกบิลพรหมหากตกลงแผ่นดินจะลุกเป็นไฟไหม้ทั้งโลก หากโยนขึ้นฟ้าอากาศจะแห้งแล้ง และหากทิ้งลงมหาสมุทรน้ำจะแห้งเหือด


ธิดาทั้ง 7 จึงได้รับมอบหมายให้รับเอาศีรษะใส่พานไว้ให้อัญเชิญเวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วเก็บไว้ในถ้ำคันธุลีในเขาไกรลาศ ครบทุก 1 ปี ธิดาทั้ง 7 จะผลัดเวรกันมาอัญเชิญศีรษะของท้าวกบิลพรหมวนรอบเขาพระสุเมรุซึ่งก็คือ ศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล


นางสงกรานต์ทั้ง 7 เดิมทีเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช เป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์ และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมเทพผู้เป็นตัวแทนแห่งพระอาทิตย์ ธิดาทั้ง 7 จึงเป็นตัวแทนของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ การเลือกนางสงกรานต์ของแต่ละปีจึงถูกกำหนดจากว่า วันที่ 14 เมษายนตรงกับวันใดของสัปดาห์ นางสงกรานต์ประจำวันนั้นก็จะถูกเลือกให้รับหน้าที่อัญเชิญศีรษะเพื่อเคลื่อนผ่านพระอาทิตย์จากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนี้


1.นางสงกรานต์ทุงสะเทวี (ประจำวันอาทิตย์)

ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ


2.นางสงกรานต์โคราคะเทวี (ประจำวันจันทร์)

ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)


3.นางสงกรานต์รากษสเทวี ประจำวันอังคาร 

ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (สุกร)


4.นางสงกรานต์มณฑาเทวี (ประจำวันพุธ) 

ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)


5.นางสงกรานต์กิริณีเทวี (ประจำวันพฤหัสบดี) 

ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)


6.นางสงกรานต์กิมิทาเทวี (ประจำวันศุกร์)

ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ)


7.นางสงกรานต์มโหธรเทวี (ประจำวันเสาร์) 

ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)


นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าหากในปีใดนางสงกรานต์ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ ถ้านางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ หากนางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข และถ้าในปีใดนางสงกรานต์นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat