สาวๆ ระวัง! อารมณ์เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือนอาจเป็น PMDD

สาวๆ ระวัง! อารมณ์เหวี่ยงก่อนมีประจำเดือนอาจเป็น PMDD

42908 เม.ย. 68 16:56   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

สาวคนไหนอารมณ์สวิงก่อนมีประจำเดือน หงุดหงิด เศร้าซึม หรือเบื่อโลกไม่มีสาเหตุ ระวังอาจเป็นอาการ PMDD สังเกตตัวเองก่อนร่างกายรวน!

จากบทสัมภาษณ์ล่าสุดของดาราสาว "ยิปซี คีรติ" ได้เปิดเผยถึงอาการผิดปกติที่เธอเป็นก่อนมีประจำเดือน โดยเล่าว่าอารมณ์ของเธอมักขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้หญิง แต่ในความเป็นจริง อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของร่างกายที่เริ่มรวนจากความเครียดเรื้อรัง หรือการดูแลตัวเองที่สุดโต่งเกินไป อาการเหล่านี้ที่เธอพบเจอคือ PMDD

 

PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder คือภาวะที่เกิดจากการตอบสนองของสมองที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงก่อนมีประจำเดือน โดยมีอาการที่ไม่เพียงแค่ทำให้เกิดความเหวี่ยงหรืออารมณ์แปรปรวนเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ สมอง และระบบประสาทอย่างชัดเจน อาการของ PMDD มีความรุนแรงและสามารถทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้รู้สึกว่าชีวิตประจำวันถูกกวนใจอย่างมาก

 

หนึ่งในสาเหตุหลักของ PMDD คือการเปลี่ยนแปลงในระดับ เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์ ความสุข และการนอนหลับ ฮอร์โมนเพศหญิงสามารถส่งผลกระทบต่อระดับของเซโรโทนินได้ และในผู้ที่เป็น PMDD สมองจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนได้อย่างรุนแรง จนทำให้เกิดการแปรปรวนของระดับเซโรโทนิน และส่งผลให้เกิดอาการทางอารมณ์ที่รุนแรง เช่น ซึมเศร้า ร้องไห้ หรืออารมณ์ไม่สามารถควบคุมได้

 

ปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้ PMDD รุนแรงขึ้น ได้แก่ ความเครียดเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากการอดอาหาร การออกกำลังกายหนักเกินไป หรือการนอนไม่เพียงพอ เมื่อร่างกายอยู่ในโหมด "ตื่นตัวตลอดเวลา" จะทำให้สมดุลฮอร์โมนเพศรวนแบบไม่รู้ตัว การตกไข่และประจำเดือนก็อาจส่งผลให้สภาวะอารมณ์แปรปรวนมากกว่าปกติ จึงทำให้อาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลรุนแรงขึ้น

 

อาการของโรค PMDD

  • อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ควบคุมไม่ได้ หรือหงุดหงิดง่าย
  • วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือรู้สึกเครียดโดยไม่มีเหตุผล
  • ร้องไห้เอง เบื่อโลก อยากอยู่คนเดียว หรืออยากหายไป
  • นอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ สมองไม่ยอมปิด
  • ไม่มีสมาธิ
  • น้ำหนักลด กล้ามเนื้อหาย ผมร่วง ผิวแห้ง
  • ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่สม่ำเสมอ
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะของหวานหรือแป้ง
  • มีความคิดฆ่าตัวตาย


โดยทั่วไป มักมีอาการช่วง 6 วันก่อนมีประจำเดือน และอาการจะรุนแรงที่สุดประมาณ 2 วันก่อนมีประจำเดือน ในบางคนอาจมีอาการเพียงไม่กี่วัน แต่บางคนอาจมีอาการยาวนานได้ถึง 2 สัปดาห์

 

นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวมีประวัติของ PMS และ PMDD ตนเองหรือคนในครอบครัวมีภาวะผิดปกติด้านอารมณ์อื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) อาจเสี่ยงต่อการเกิด PMDD สูงกว่าคนทั่วไป และในบางกรณี ความเครียด การสูบบุหรี่ และการประสบเหตุการณ์เลวร้ายทางร่างกายและจิตใจ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด PMDD ได้เช่นกัน

 

วิธีการรักษา PMDD

การดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะ PMDD จำเป็นต้องจัดการกับระดับฮอร์โมนเพศและลดความเครียดเรื้อรังเพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูสมดุลฮอร์โมน


1.  การกินอาหารที่เหมาะสม

 • รับประทานอาหารเช้าที่มีไขมันดี (เช่น MCT, น้ำมันมะกอก, Omega-3) และโปรตีนคุณภาพดี เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลและฮอร์โมน

• หลีกเลี่ยงการอดอาหารหรือการทำ IF ที่อาจทำให้รู้สึกเครียดหรืออ่อนเพลีย

• รวมถึงการเลือกคาร์โบไฮเดรตที่ดีในมื้อเย็น เช่น ฟักทอง มันหวาน หรือควินัว เพื่อเสริมสร้างพลังงานที่ดีให้ร่างกาย


2. การออกกำลังกายที่เหมาะสม

เลือกออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การเดินเบาๆ หรือเล่นโยคะ ถ้ารู้สึกเหนื่อยเกินไปก็ควรจะพักผ่อน ไม่ควรฝืนออกกำลังกายซ้ำ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยปรับสภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้นและช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น


3. การดูแลเรื่องการนอน

การนอนหลับที่ดีไม่ใช่แค่การนอนนาน แต่ต้องมีการหลับลึก ไม่ตื่นกลางดึก และตื่นขึ้นมารู้สึกสดชื่น


4. เสริมแร่ธาตุและโพรไบโอติกส์

การรับประทานแร่ธาตุธรรมชาติ เช่น เกลือชมพู หรือเกลือดำ ช่วยเสริมสมดุลน้ำในร่างกาย และการทานอาหารหมักดี เช่น นัตโตะ กิมจิ หรือโยเกิร์ตธรรมชาติ ช่วยบำรุงลำไส้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสารสื่อประสาท


5.  การใช้ยาหรือการบำบัดทางการแพทย์

หากอาการรุนแรงจนกระทบชีวิตประจำวัน แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยยาเพิ่มสารเซโรโทนิน (SSRIs: sertraline, citalopram, escitalopram, fluoxetine) ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมน (GnRH Agonists) เพื่อหยุดการทำงานของรังไข่ ยาต้านเศร้า (Tricyclic Antidepressant) หรือพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ บำบัดความคิดและพฤติกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการสภาวะอารมณ์ในแง่ลบ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นปกติได้

 

PMDD เป็นภาวะที่มีผลกระทบต่อทั้งอารมณ์และร่างกาย หากอาการเหล่านี้เริ่มทำให้ชีวิตประจำวันของคุณยากขึ้น ก็ไม่ควรมองข้าม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น สูตินารีแพทย์ จิตแพทย์ หรือแพทย์ด้านฮอร์โมน เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat