รัฐบาลเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

รัฐบาลเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

35522 ม.ค. 68 15:55   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

รัฐบาลเดินหน้าออกมาตรการควบคุมต้นเหตุ ตัดวงจรปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาเรื้อรังส่งอันตรายต่อสุขภาพคนไทย

(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท)

ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย การเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ แต่ยังเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพ


ในส่วนของรัฐบาลไทย ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้และดำเนินแผนนโยบายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในระยะยาว โดยมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล รวมถึงการขยายบริการสุขภาพ การประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากฝุ่น รวมถึงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มการควบคุมมลพิษในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการขนส่ง เพื่อลดปริมาณฝุ่น โดยมีนโยบาย ดังนี้

 

1.การลดการเผา

•ห้ามการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้

•ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ไม่ต้องเผา เช่น การไถกลบ

•สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ไม่ต้องเผา


2.การควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม

•กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้น

•บังคับใช้อุปกรณ์ควบคุมมลพิษ


3.การควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคขนส่ง

•ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสะอาด

•ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ


4.การสร้างความตระหนักรู้

•ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ

•ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา


5.การวิจัยและพัฒนา

•สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

•พัฒนาแบบจำลองคาดการณ์คุณภาพอากาศ


หมายเหตุ: นโยบายและมาตรการต่างๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และความเหมาะสม

 

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือแนวทางการดูแลประชาชนในเรื่องฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรี และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แจ้งมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดังนี้

 

1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประจำปี 2568 เตรียมความพร้อม และดำเนินการตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด


2. เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพ และการป้องกันตนเองจากภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น


3. ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสียง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดูแลประชาชนในพื้นที่


4. ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง โดยเพิ่มบริการห้องปลอดฝุ่น และมุ้งสู้ฝุ่น รวมทั้งจัดตั้งคลินิก PM 2.5 การให้คำปรึกษาออนไลน์ในช่องทางต่างๆ


5. ให้สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย น้ำเกลือ กระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูก

 

ทั้งนี้ ทางกรุงเทพมหานครยังได้ประกาศขยายระยะเวลา WFH (Work from Home) ไปจนถึงวันที่ 24 มกราคม 2568 เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงในสัปดาห์นี้ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ เพื่อลดการเดินทางและปริมาณรถยนต์ที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของฝุ่น หากต้องออกจากบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยและระมัดระวังสุขภาพ 


ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง