ลงนาม MOU ร่วมพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า ก้าวสำคัญสู่สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด

ลงนาม MOU ร่วมพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า ก้าวสำคัญสู่สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด

24107 ม.ค. 68 16:57   |     Tum1

ป.ป.ส. จับมือ สธ. - ม.เชียงใหม่ และหน่วยงานภาคี ลงนาม MOU ร่วมพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า ก้าวสำคัญสู่สังคมปลอดภัยจากยาเสพติด

วันที่ 7 มกราคม 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกเพื่อความเข้าใจ หรือ MOU ความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อดำเนินโครงการวิจัยประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้เสพติดยาบ้า โดยสำนักงาน ป.ป.ส.จัดพิธีลงนาม MOU ใน 2 ระดับ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ 

โดยในระดับนโยบาย เป็นการลงนามฯ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส.กับกระทรวงสาธารณสุข โดยมี พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ สำนักงาน ป.ป.ส. และนายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนาม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นพยาน เป็นการสร้างความร่วมมือและผลักดันให้เกิดนวัตกรรม ในการพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า (Medication Assisted Treatment) และลดอันตรายจากการเสพยาบ้า


ส่วนในระดับปฏิบัติ เป็นการลงนามฯ ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ส. , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โดยมี น.ส.อารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. , ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , นายแพทย์อภิศักดิ์ วิทยานุกูลลักษณ์ ผอ.โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ และนายแพทย์ชาญชัย ธงพานิช ผอ.โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น เป็นผู้ลงนาม ซึ่งจะร่วมกันสนับสนุนทรัพยากร และพื้นที่สำหรับการดำเนินงานวิจัย



พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหายาบ้าเป็นปัญหาหลักของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมเป็นอย่างมาก เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล สร้างภาระค่าใช้จ่าย ทั้งงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้เสพ ผู้ติด ผู้กระทำผิด ผู้มีอาการทางจิต และสูญเสียแรงงานคุณภาพในการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้าในปัจจุบัน ยังไม่มียาชนิดใดที่ใช้ได้ผล ผมจึงมอบหมายให้ สำนักงาน ป.ป.ส. หารือผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนายาช่วยในการบำบัดรักษาผู้ป่วยติดยาบ้า (Medication Assisted Treatment) และลดอันตรายจากการเสพยาบ้า


พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยประสิทธิผลของยาโพรพิออน (Bupropion) ยาเมอร์เทซาปีน (Mitazapine) และยาลองแอคติง เมทิลเฟนิเดต (Long-acting methylphenidate) เปรียบเทียบกับการรักษาแบบปกติ ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดยาบ้าเป็นอย่างไร รวมระยะเวลาศึกษาวิจัย 3 ปี ตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ. 2567 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2571 โดยหากใช้ได้ผลดี จะมี    การนำมาขึ้นทะเบียนยาเพื่อใช้รักษาผู้ติดยาบ้า และจัดทำเงื่อนไขในการเบิกจ่ายสำหรับผู้ป่วยต่อไป โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหายาบ้าของประเทศไทยในอนาคตต่อไป


  

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาประสิทธิผลของยาที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า     ในประเทศไทย ถือเป็นการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคมเป็นมูลค่ามากมายมหาศาล รวมถึงลดสูญเสียกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ ลดการเกิดปัญหาอาชญากรรม และลดผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตของผู้เสพ ผู้ติดยาบ้า ครอบครัว และชุมชน ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มียาชนิดใดที่ให้ผลการรักษาผู้เสพผู้ติดยาบ้าได้ โครงการนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศ และเป็นการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผู้เสพ ผู้ติด ยาบ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสังคมปลอดภัยจากยาเสพติด - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง