เปิดไทม์ไลน์คดียุบพรรคก้าวไกล

เปิดไทม์ไลน์คดียุบพรรคก้าวไกล

56507 ส.ค. 67 13:33   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

จากนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง สู่มูลเหตุนำไปสู่คดีร้องยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร ย้อนดูเหตุการทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยพรรคก้าวไกล 7 ส.ค.นี้

วันที่ 7 ส.ค. 2567 เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำร้องขอยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค จากกรณีการชูนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็น 1 ในนโยบายของพรรคในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566


สายตาจำนวนมากทั้งในประเทศและนอกประเทศ ต่างก็จับจ้องรอชมการตัดสินใจในวันนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะเป็นอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ที่พรรคที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมาเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ จะต้องพบกับจุดจบด้วยการถูกสั่งยุบพรรค เช่นเดียวกันกับพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนในอดีต


คดีนี้เริ่มมาจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ได้หอบเอกสารหลักฐานพร้อมคำร้อง เข้าร้องต่ออัยการสูงสุด(อสส.) ให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งให้พรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น เลิกกระทำการใด เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112



ให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กระทำอยู่ และเลิกการกระทำดังกล่าว ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีแนวบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564


ทั้งนี้อัยการสูงสุดไม่ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ในภายหลัง นายธีรยุทธได้ส่งคำร้องตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญเอง และศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องในวันที่ 12 ก.ค. 2566


ในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า การกระทำของนายพิธา ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง


รวมทั้งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74


หลังจากนั้นในวันที่ 1 ก.พ. 2567 นายธียุทธ ผู้ยื่นคำร้องในคดีแรกและนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้เดินทางไปที่สำนักงาน กกต. โดยมิได้นัดหมายกัน และได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ร้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าพฤติการณ์ของนายพิธา และพรรคนั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง


กกต. ใช้เวลาในการพิจารณาราว 1 เดือนครึ่ง ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้รับมอบหมายจาก กกต. ให้เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)


ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเปิดเผยความคืบหน้าของคดี ในวันที่ 3 เม.ย. 2567 ว่าศาลฯ รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา พร้อมทั้งเรียกตัวผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเข้าให้ความเห็นในดีดังกล่าว จนกระทั่ง 17 ก.ค. 2567 ศาลฯ ได้ประกาศยุติการไต่สวนทั้งหมด พร้อมนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 ส.ค. 2567



วันที่ 2 ส.ค. 2567 ก่อนถึงวันวินิจฉัยคดี 5 วัน พรรคก้าวไกลได้เปิดการแถลงสาธารณะ 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยพรรคฯ ระบุว่า


  1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
  2. กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  3. คำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
  4. การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
  5. การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567 ไม่ได้เป็นมติพรรค
  6. โทษยุคพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
  7. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
  8. จำนวนปีในการตัดสิทธิ์ทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด
  9. การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารในช่วงที่ถูกกล่าวหา


สำหรับในวันที่ 7 ส.ค. 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีการนัดอ่านคำวินิจฉัยนั้น ทางพรรคก้าวไกลได้มีการจัดกิจกรรมที่ที่ทำการพรรค โดยจะมีกิจกรรมเลคเชอร์สาธารณะ โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนถึงเวลา 15.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดหมายฟังคำวินิจฉัย

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง