สว.ยืนยันไม่มีฮั้ว เข้ามาถูกต้องไม่มีฝักฝ่าย

สว.ยืนยันไม่มีฮั้ว เข้ามาถูกต้องไม่มีฝักฝ่าย

52321 ก.พ. 68 13:42   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ประธาน สว.ตั้งโต๊ะแถลง ยืนยันเลือกตั้ง สว.ไม่มีการฮั้ว เข้ามาอย่างถูกต้องตามกระบวนการ ไม่ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับใคร หลัง DSI รับเรื่องตรวจสอบฮั้วเลือกตั้ง

(21 ก.พ. 68) ที่โรงแรมสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วย พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รับเรื่องจากกลุ่มตัวแทน สว.สำรอง และผู้สมัครรับเลือก สว.จำนวนกว่า 40 คน กรณีขอให้สอบสวนการได้มาซึ่ง สว. ปี 2567 เป็นคดีพิเศษ เพราะเชื่อว่าเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 


โดย นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ระบุว่า อำนาจในการตรวจสอบการเลือก สว.เป็นของ คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ สว.ชุดนี้เมื่อได้รับการรับรองจาก กกต.ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก็ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ให้ความร่วมมือกับ กกต.มาโดยตลอดในการส่งข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอ ยืนยันว่า สว.ที่ได้รับเลือกเข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกัยผู้หนึ่งผู้ใด การที่หน่วยงานที่ไม่มัอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบออกมาให้ข่าวอาจสร้างความเสียหาย และถือว่าเป็นหน้าที่ที่ สว.ต้องออกมาปกป้องสิทธิ ปกป้องศักดิ์ศรีเชื่อว่าการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบครั้งนี้ มีกลุ่มขบวนการที่ต้องการให้เข้าสู่วังวงวิกฤตรัฐธรรมนูญอีกครั้ง 


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 68 กลุ่มสว.สำรอง และตัวแทนผู้สมัครรับเลือก สว. จำนวนกว่า 40 คน นำโดย พลตำรวจโท คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้สอบสวนการได้มาซึ่ง สว. ปี 2567 เป็นคดีพิเศษ เพราะเชื่อว่าเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนการได้มาซึ่ง สว.ไว้ดำเนินการแล้ว และได้รับการร้องเรียนเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งในการร้องขอครั้งก่อนหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนกรณีดังกล่าวตั้งแต่ได้รับการร้องเรียนในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยมีการออกเลขสืบสวนที่ 151/2567 ทำการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเบื้องต้น


และได้แจ้งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาว่าจะรับเรื่องไปดำเนินการหรือจะมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ ซึ่งตามกฎหมาย ให้อำนาจหน้าที่ กกต. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมา กกต. ได้ตั้งคณะร่วมทำการสืบสวนในกรณีนี้ด้วยหลายหน่วยงาน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปง. ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 กกต. ได้มีหนังสือสอบถามว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีการรับเรื่องไว้จำนวนเท่าไร มีผลการดำเนินการเป็นเช่นไร กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งผลการดำเนินงานไปยัง กกต. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 พร้อมสอบถามความคืบหน้าว่าจะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการอย่างไร ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาของ กกต.



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง