สมชื่อ “น้ำหนาว” เช้านี้ -3 องศา แม่คะนิ้งขาวโพลน
สมชื่อ “น้ำหนาว” เช้านี้ -3 องศา แม่คะนิ้งขาวโพลน
หนาวจัดสมชื่อ “น้ำหนาว” เช้ามืดวันนี้อุณหภูมิลดต่ำถึง -3 องศา เกิดแม่คะนิ้งขาวโพลน ทั้งบนยอดหญ้าและหลังคารถ
(13 ม.ค. 68) อากาศเมืองไทยมีนี้หนาวยาวนานสมศักดิ์หน้าหนาว ผู้สื่อข่าวรายงานมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า “ตี4 -3° โอ่ยนอนไม่หลับโคตรหนาววๆๆๆๆ” พร้อมกันนี้ได้โพสต์ภาพและคลิปวีดีโอแม่คะนิ้งที่เกาะอยู่ตามพื้นและใบหญ้า รวมทั้งเกล็ดน้ำค้างแข็งที่เกาะอยู่บนหลังคารถจนขาวไปทั้งคัน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่บ้านห้วยหญ้าเครือ หมู่ 1 ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์
ต่อมาผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว เขาเล่าให้ฟังว่าช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาอากาศค่อนข้างเย็นจัด อุณหภูมิในช่วงกลางดึกจะอยู่ที่ 1-2 องศาเซลเซียส แต่เพราะมีลมพัดค่อนข้างแรงจึงทำให้ไม่เกิดแม่คะนิ้ง
แต่เมื่อคืนที่ผ่านมาลมสงบ อากาศเริ่มเย็นมากขึ้น โดยในช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม อุณหภูมิจะอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส ทำให้ตนคาดว่าช่วงกลางดึก-เช้ามืดอากาศน่าจะติดลบอย่างแน่นอน เพราะถ้าวันไหนอากาศเย็นจัดและไม่มีลมพัด อุณหภูมิส่วนมากจะติดลบ
กระทั่งเวลาประมาณ 04.00 น. ตนตื่นขึ้นมาพบว่าอุณหภูมิอยู่ที่ -3 องศาเซลเซียส จึงได้ลงมาจากบ้านเพื่อถ่ายภาพแม่คะนิ้งและเกล็ดน้ำค้างแข็งที่เกาะอยู่ตามพื้นและที่หลังคารถ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบ้านห้วยหญ้าเครือนั้นตั้งอยู่บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 750 -800 เมตร และได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความหนาวเย็นที่สุด ช่วงฤดูหนาวจะมีปรากฏการณ์แม่คะนิ้งให้ชมกันอย่างเต็มตา โดยเมื่อปี 2566 เคยทำสถิติอุณหภูมิลดลงถึง -5 องศาเซียลเซียส เลยทีเดียว
ในขณะที่นายศรัณยู มีทองคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศจากหน่วยราชการ อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ กรณีอุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว
ตลอดจนระมัดระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งและลมแรง วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ สภาวะอากาศและปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร จิตอาสา ร่วมปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ
ให้ซักซ้อมผู้นำท้องที่ท้องถิ่นในการแจ้งเตือนภัย โดยกำหนดช่องทางการสื่อสารให้ถึงระดับครัวเรือน เช่น ไลน์กลุ่มหมู่บ้าน ครอบครัว สื่อโชเชียล หอกระจายข่าว รถกระจายข่าว หรือการเคาะประตูบ้านกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเกิดสถานการณ์ ให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เข้าสำรวจความเสียหายพร้อมทั้งรายงานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ทราบทันที ทางแอปพลิเคชันไลน์ “กอปภ.จ.เพชรบูรณ์” และทางหมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร 056729792