เช็กข้อกฎหมายใหม่ รองรับ “สมรสเท่าเทียม”
เช็กข้อกฎหมายใหม่ รองรับ “สมรสเท่าเทียม”
“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ม.ค. 68 ก่อนถึงวันนั้น มาเช็กข้อกฎหมายที่เปลี่ยนไปเพื่อรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันให้ทัดเทียมกับคู่รักต่างเพศ
(เรียบเรียงโดย ปิยะธิดา ผ่านจังหาร)
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง อีกต่อไป โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่าตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป กฎหมายแพ่งใหม่จึงจะมีผลบังคับใช้ สามารถไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งใหม่ที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม
กลายประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสให้บุคคลทุกเพศทุกวัยได้เข้าถึงสิทธิในการแต่งงานอย่างเท่าเทียมกัน หลังจากการต่อสู้เรียกร้องมานานหลายปี การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เพื่อรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคม โดยการเปลี่ยนคำว่า "ชาย-หญิง" เป็น "บุคคล" และ "สามี-ภริยา" เป็น "คู่สมรส" ทำให้คู่รักทุกเพศสามารถเข้าถึงสถาบันการสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การปรับอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของบุคคลมากขึ้น
กฎหมายฉบับใหม่นี้ไม่ได้เพียงแค่เปลี่ยนแปลงคำศัพท์ แต่ยังมอบสิทธิและความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันให้กับคู่สมรสทุกคู่ เช่น สิทธิในการรับมรดก สิทธิในการทำประกันชีวิต สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน และสิทธิในการตัดสินใจทางการแพทย์แทนกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงและความสุขให้กับครอบครัวที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง: iLaw, ราชกิจจานุเบกษา