ย้อนประวัติ “วันครู” 16 มกราคม
ย้อนประวัติ “วันครู” 16 มกราคม
ย้อนรอยประวัติความเป็นมาของวันครูแห่งชาติ ทำไมจึงต้องมีวันนี้ และวันนี้ต่างจาก “วันไหว้ครู” อย่างไร
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท)
เมื่อพูดถึง “วันครู” ต้องย้อนไปที่การประกาศพระราชบัญญัติครูใน พ.ศ. 2488 ซึ่งกำหนดให้มีคุรุสภาเป็นองค์กรนิติบุคคลสำหรับครูทุกคน มีหน้าที่เกี่ยวกับสถาบันวิชาชีพครู การให้คำแนะนำด้านการศึกษา และสวัสดิการแก่ครูและครอบครัว
ในปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอให้มี “วันครู” เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงคุณครู ซึ่งที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีมีมติเห็นชอบ โดยเสนอให้จัดพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างครู และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 กำหนดให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” และจัดงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 ที่กรีฑาสถานแห่งชาติ พร้อมกำหนดให้มีอนุสรณ์งานวันครู เช่น หนังสือประวัติครู และสิ่งก่อสร้างถาวรสำหรับอนุชนรุ่นหลัง
วันครูกับวันไหว้ครู ต่างกันอย่างไร?
“วันไหว้ครู” ที่จริงแล้วไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัดในแต่ละปี แต่มักจัดในช่วงหลังเปิดภาคการศึกษาใหม่ หรือ วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายน ซึ่งตรงกับช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นวันที่ลูกศิษย์พร้อมใจกันทำพิธีไหว้หรือบูชาครู เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูผู้ให้การอบรมสั่งสอนก่อนเริ่มการเรียนการสอนในแต่ละปี
ดังนั้นวันไหว้ครูจึงเป็นวันที่จะมีพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูก่อนเริ่มต้นปีการศึกษา ขณะที่วันครู เป็นวันที่ระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและความเข้าใจอันดีของครูและประชาชน
คำขวัญวันครู ประจำปี 2568
นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มอบคำขวัญวันครูไว้ว่า
“ครูจุดประกายความฝัน ผลักดันให้กล้าคิด สร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กไทย”