ฝนตกหนัก น้ำจืดไหลลงทะเล ปลาในกระชังน็อกน้ำลอยตายเกลื่อน
ฝนตกหนัก น้ำจืดไหลลงทะเล ปลาในกระชังน็อกน้ำลอยตายเกลื่อน
เดือดร้อนหนัก! ฝนกระหน่ำเมืองตรัง น้ำจืดไหลลงทะเล ปลาในกระชังน็อกน้ำลอยตายเกลื่อน
วันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังรวม 2 หมู่บ้านใน ต.วังวน อ.กันตัง ประกอบด้วยหมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ กับหมู่ที่ 3 บ้านแหลม รวม 100 กระชัง ต่างประสบปัญหามวลน้ำจืดจากแม่น้ำตรังไหลลงสู่ทะเล ทำให้ปลากะพงขาวและปลาเก๋าที่เลี้ยงไว้ในกระชังกว่า 200,000 ตัว ลอยตายเกลื่อน เพราะปรับสภาพไม่ทัน เนื่องจาก น้ำจืดไหลมาเร็วและแรงมาก จนเกษตรกรตั้งรับไม่ทัน
โดยเฉพาะที่หมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ เกษตรกรบางรายกำลังจะจับปลาขายในอีก 2 วันข้างหน้า แต่เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พ่อค้าคนกลางระงับการสั่งซื้อจนกว่าน้ำจะลดลง เพื่อให้ความเค็มของน้ำคงที่ จึงทำให้ปลากะพงขาวที่เตรียมจะจับขาย ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท และปลาเก๋า กิโลกรัมละ 250 บาท ขนาดน้ำหนักตัวละ 2-3 กิโลกรัม ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงนานกว่า 1 ปี ลอยตายทั้งหมด เสียหายนับแสนบาทต่อราย
ส่วนกระชังปลาของเกษตรกรรายอื่นๆ ที่มีอายุ 5-6 เดือน ก็ลอยตายจนเกลี้ยง ประมาณ 400-500 ตัวต่อวัน สถานการณ์นี้ดำเนินมาเป็นวันที่ 3 แล้ว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 6 ปี แต่ปีนี้ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมหลายหมู่บ้านสองฝั่งแม่น้ำตรัง จึงทำให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก แม้ชาวบ้านจะเร่งติดต่อพ่อค้ารับซื้อก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่ทันการณ์ ทำให้เกษตรกรเกือบ 100 ราย ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก นับเป็นเหตุการณ์น้ำจืดไหลลงทะเลหนักที่สุดในรอบ 6 ปี
ขณะที่ประมง อ.กันตังและประมง จ.ตรัง ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของเกษตรกรแล้ว แต่พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีเพียงใบอนุญาตให้เลี้ยงปลาในกระชัง ทำให้เกษตรกรรู้สึกท้อใจ เพราะยังไม่ได้รับคำตอบเรื่องเงินเยียวยาแต่อย่างใด
นายประกิจ (สงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังหมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือ กล่าวว่า ปลาที่ลอยตายมีปลาเก๋ากับปลากะพง แต่ละวันลอยตายประมาณ 400-500 ตัว ตนเลี้ยงไว้ประมาณ 1,000 ตัวอายุประมาณ 5-6 เดือนแล้ว ซึ่งตอนนี้ประสานไปทางประมงจังหวัดและประมงอำเภอ รวมทั้ง อบต.ในพื้นที่ว่าจะมีทางช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร
ส่วนเรื่องการขออนุญาต ได้ประสานกับทางอำเภอ ทางอำเภอบอกว่า เป็นใบอนุญาตเลี้ยงปลา แต่ไม่ใช่ทะเบียน จึงไม่ทราบว่าจะมีการเยียวยาแบบไหน ยอมรับว่าท้อ ตนลงทุนเลี้ยงปลารอบนี้ประมาณ 50,000-60,000 บาท ถือว่าหายหมดเกลี้ยง
ด้านนายอนุชา แซ่อุ้ย กำนันตำบลวังวน ระบุว่า ตอนนี้ที่ได้รับข้อมูลมามีเลี้ยงปลาอยู่ 2 หมู่บ้านดังกล่าว ภาพรวมมีประมาณ 100 กระชัง ไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัว เป็นปลาเก๋ากับปลากะพงขาว บางรายเลี้ยงกันมาเป็นปีสองปีแล้ว บางรายก็เพิ่งลงเลี้ยง 5-6 เดือน สาเหตุน่าจะเกิดจากฝนตกหนัก ทำให้น้ำในลำคลองจืด ปลาปรับสภาพไม่ทัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมานาน 6 ปีแล้ว และได้ประสานงานกับประมงอำเภอและประมงจังหวัด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ฯ ได้เข้ามาช่วยดูแลแล้ว