ไทยเตรียมรับมือ “ลา นีญา” แฝดคนละฝาของ “เอล นีโญ”
ไทยเตรียมรับมือ “ลา นีญา” แฝดคนละฝาของ “เอล นีโญ”
ทำความรู้จักกับ “ลา นีญา” ปรากฏการณ์ธรรมชาติคู่ตรงข้ามกับ “เอล นีโญ” ที่จะหอบเอาฝนตกห่าใหญ่มาสู่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ คนไทยทั้งประเทศได้เผชิญกับสภาพอากาศร้อนอย่างสาหัสซึ่งเป็นอิทธิพลจากปรากฏการณ์ “เอล นีโญ” (El Niño) กันไปแล้ว “เอล นีโญ” เป็นปรากฏการณ์ของกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อกระแสลมสินค้าตะวันออก ที่พัดจากชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก(ฝั่งอเมริกา)พัดเข้าหาชายฝั่งทางตะวันตกของมหาสมุทร(ฝั่งเอเชีย)อ่อนกำลังลง
ทำให้กระแสลมเปลี่ยนทิศเป็นตรงกันข้าม เนื่องมาจากความกดอากาศและอุณหภูมิในฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้ทวีปอเมริกาใต้เจอฝนตกชุก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจะเกิดสภาพอากาศร้อนและแล้งจัด
หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลง และมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทางกรมอุตินิยมวิทยาก็ได้ออกมาประกาศว่าในปีนี้ นอกจาก “เอล นีโญ” แล้ว ประเทศไทยยังจะเผชิญกับภาวะอากาศอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ลา นีญา”(La Niña) อีกด้วย โดยจะกินเวลาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ม.ค. 2568 เลยทีเดียว
เช่นเดียวกันกับ “เอล นีโญ” ที่เป็นภาษาสเปน แปลว่าเด็กชาย “ลา นีญา” ที่เป็นภาวะอากาศคู่ตรงข้ามกันก็มีที่มาของชื่อเรียกจากภาษาสเปนที่แปลว่าเด็กหญิง หรือบางทีก็มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “แอนไท เอล นีโญ”(Anti-El Niño) เนื่องมาจากมันเป็นปรากฏการณ์คู่ตรงข้ามกันนั่นเอง
“ลา นีญา” เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกของแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าต่ำกว่าปกติ เนื่องจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงมากกว่าปกติ จึงพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้วยิ่งมีอุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ “ลา นีญา” จะเกิดขึ้นได้ทุก 2 – 3 ปี และปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9 – 12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี
นอกจากเรื่องของอุณหภูมิแล้ว “ลา นีญา” ยังส่งผลถึงปริมาณของฝนที่ตกในแต่ละฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย โดยเมื่อ “เอล นีโญ” ทำให้ฝนชุกมากขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งอเมริกาใต้ และทำให้ออสเตรเลียและฝั่งขอบทวีปเอชียเกิดภัยแล้’ “ลา นีญา” ก็จะทำให้เกิดฝนตกชุกในพื้นที่ฝั่งเอเชียและเกิดภัยแล้งในฝั่งอเมริกาใต้นั่นเอง
นอกจากนี้ยัง ปรากฏว่า “ลา นีญา” ยังมีอิทธิพลไปยังพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปด้วย โดยพบว่าแอฟริกาใต้มีแนวโน้มที่จะมีฝนมากกว่าปกติและมีความเสี่ยงต่ออุทกภัยมากขึ้น ขณะที่บริเวณตะวันออกของแอฟริกามีฝนน้อยและเสี่ยงต่อการเกิดความแห้งแล้ง
ส่วนผลกระทบของ “ลา นีญา” ที่มีต่อรูปแบบของอุณหภูมิปรากฏว่าในช่วง “ลา นีญา”อุณหภูมิผิวพื้นบริเวณเขตร้อนโดยเฉลี่ยจะลดลง และมีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ ในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ ขณะที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรรวมถึงพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ส่วนทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาต่อเนื่องถึงตอนใต้ของแคนาดามีอากาศหนาวเย็นกว่าปกติ
ที่ผ่านมามักมีข้อกังวลถึงปรากฏการณ์ “เอล นีโญ” ที่ก่อให้เกิดภัยแล้ง แต่ขณะเดียวกัน “ลา นีญา” เองก็เป็นสาเหตุให้เกิดภัยพิบัติได้เช่นกัน เช่น กรณีน้ำท่วมใหญ่ในรัฐควีนส์แลนด์ ช่วงปี พ.ศ. 2553-2554, พายุหิมะรุนแรงในทวีปอเมริกาเหนือในปี พ.ศ. 2553, รวมถึงเชื่อว่ามันเป็นปัจจัยของการเกิดพายุหมุนทอร์นาโดหลายลูกที่มีความรุนแรงสูงผิดปกติในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี พ.ศ.2554
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยในปี 2567 นี้ บริเวณประเทศไทยตอนบนในเดือน กรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคม จะมีฝนมากกว่าปกติบางพื้นที่ ส่วนเดือนอื่นๆ จะใกล้เคียงค่าปกติ สำหรับภาคใต้จะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติในช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนเดือนอื่นๆจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
สำหรับอุณหภูมิในช่วง กรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคมคาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่า ค่าปกติ 0.2-1.0 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วง 3 เดือนหลัง คาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
ทั้งนี้ เปรียบเทียบกับปี 2566 ปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีนี้คาดว่า จะมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน คาดว่า จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนในเดือนตุลาคมและธันวาคม คาดว่า จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา สำหรับอุณหภูมิเมื่อเทียบกับปี 2566 คาดว่า ทั้งอุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุดจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
ที่มา:
- https://www.tmd.go.th/info/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8D%E0%B8%B2
- https://www.tmd.go.th/climate/content/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%8B-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99-2567
- https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%8D%E0%B8%B2