โรงงานทำถุงมือ ที่รัตภูมิ ลอยแพแรงงานเมียนมากว่า 20 คน
โรงงานทำถุงมือ ที่รัตภูมิ ลอยแพแรงงานเมียนมากว่า 20 คน
โรงงานทำถุงมือ ที่รัตภูมิ ลอยแพแรงงานเมียนมากว่า 20 คน ทนายใจดีรับเคสไม่จ่ายค่าชดเชย
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ บำรุงวงศ์ หรือ ทนายชัช กลุ่มทนายใจดี ว่ามีกลุ่มแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวกว่า 100 คน รวมตัวกันเข้าร้องทุกข์ ว่าโดนนายจ้างของโรงงานทำถุงมือแห่งหนึ่ง ในตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พยายามหาช่องว่างจากหนังสือวีซ่าใกล้หมดอายุ และยกเลิกสัญญาจ้าง ไม่จ่ายเงินค่าแรง ในส่วนที่เหลืออีกกว่า 6,000 บาท และเงินชดเชย ก่อนจะถูกนายจ้างลอยแพอย่างกะทันหัน
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่สำนักงานกฎหมายทนายใจดี ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ พบแรงงานชาวเมียนมากว่า 30 คน เข้าร้องทุกข์และขอความเป็นธรรม จากกลุ่มทนายใจดี เรื่องนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงและเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม รวมทั้งไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย พร้อมนำหลักฐานหนังสือเดินทางเข้าออกถูกกฎหมาย บัตรแรงงานต่างด้าว บัตรพนักงานของโรงงานและเอกสารรับเงินค่าแรง ก่อนจะมีการเซ็นมอบอำนาจให้ทนายเป็นผู้ดำเนินการ
จากข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นายจ้างของบริษัทชื่อดังของโรงงานดังกล่าว ได้มีการแจ้งบอกเลิกจ้างให้กับพนักงานคนไทย แรงงานต่างด้าวทั้งเมียนมาและกัมพูชา รวมกว่า 100 คน แต่ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานเกินกว่า 1 ปี จนถึง 8 ปี ต่อมาหลังกลุ่มแรงงานทราบเรื่อง ในวันที่ 20 มกราคม 2568 กลุ่มแรงงานต่างด้าวและคนไทย ได้มีการรวมตัวกันประท้วงนายจ้าง เกี่ยวกับเรื่องไม่จ่ายค่าแรงที่ค้างอยู่ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ประท้วงนายจ้างขึ้นภายในโรงงานดังกล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมตัวกันเพื่อขอความเป็นธรรม และให้ดำเนินการตามกฎหมายของไทยผ่านกลุ่มทนายใจดี โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ริมถนนหาดใหญ่-พัทลุง ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่
ต่อมา ทนายชัชวาลย์ และคณะทีมกฎหมาย ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อพิพาท ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างแรงงานต่างด้าว คือ
ข้อที่ 1 การที่นายจ้างไม่จ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้าง ซึ่งเป็นทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทย กรณีดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายแรงงานอย่างชัดเจน
ส่วนประเด็นที่ 2 คือการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ประเด็นนี้ทางกลุ่มทนายใจดีจะต้องมีการตรวจสอบข้อสัญญา ว่าจ้างมีข้อกำหนดอย่างไร แต่หากไม่มีสัญญาว่าจ้างกันเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ต้องยึดถือตามหลักของกฎหมายแรงงานเป็นสำคัญ
ทั้งนี้วันนี้ ได้รับมอบอำนาจจากกลุ่มแรงงานชาวต่างด้าว ทั้งหมดกว่า 30 ราย เพื่อประสานงานและดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมาย - ข่าวเวิร์คพอยท์รายงาน