วิจารณ์สนั่น! ถนนยังใช้ได้ เทศบาลละเลงงบ รื้อซ่อมแซมใหม่หลายสาย

วิจารณ์สนั่น! ถนนยังใช้ได้ เทศบาลละเลงงบ รื้อซ่อมแซมใหม่หลายสาย

16504 ต.ค. 67 21:34   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

วิจารณ์สนั่น! ถนนยังใช้งานได้ดี เทศบาลละเลงงบประมาณ 170 ล้านบาท รื้อซ่อมแซมใหม่หลายสาย

(4 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ เขตเทศบาลนครตรัง รวมทั้งเป็นกระแสมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียล 


กรณีเทศบาลนครตรัง ดำเนินการโครงการก่อสร้างซ่อมแซมและปรับปรุง ถนนจำนวน 9 สายที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน ว่าทำไมถึงต้องมีการก่อสร้างซ่อมแซม ทั้งที่ถนนบางเส้นบางสาย ยังดีอยู่ ยังไม่ชำรุด บางเส้นบางสายเพิ่งจะปรับปรุงซ่อมแซมมาเพียงแค่ไม่กี่ปี แต่กลับมารื้อเพื่อทำใหม่ ซึ่งประชาชนมองว่าไม่มีความประหยัดในการใช้งบประมาณ หรือไม่มีความคุ้มค่า ซึ่งในวันนี้ ได้มีนายธวัช องศารา ผู้อำนวยการส่วนควบคุมการก่อสร้างอาคารและผังเมือง สำนักช่างเทศบาลนครตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลนครตรัง เข้าร่วมตรวจสอบและชี้แจง 


นายชัยธวัช อายุ 32 ปี ชาวบ้าน กล่าวว่า ถนนยังไม่ได้ผุพัง ยังไม่ได้เป็นหลุมเป็นบ่อ กระทั่งมีการเข้ามาลอกพื้นถนน ได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่ได้มีการเข้ามาแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนว่าจะมีการรื้อถอน เพราะตนเปิดร้านขายแม็กซ์ยางรถยนต์และอะไหล่แต่ง ได้รับผลกระทบการสัญจร เพราะว่ารถลูกค้าและรถตัวเองไม่สามารถขับขึ้นไปทำงานบนร้านได้ เพราะพื้นถนนกับพื้นร้านมีความต่างระดับกัน ตนก็ต้องหยุดชะงักไว้ก่อน ส่วนการซ่อมแซมรื้อถนนใหม่นี้ ความคิดตนมองว่าไม่น่าจะเป็นความต้องการของประชาชน เพราะถนนยังคงใช้งานได้ปกติ ตนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าถนนมีระยะเวลาที่เสื่อมสภาพหรือไม่   


นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ถนนบางสายก็มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่มีสภาพที่จะใช้งานได้แล้ว ก็สมควรที่จะต้องปรับปรุงซ่อมแซม แต่ถนนบางสายดูจากกายภาพยังไม่ชำรุด ทรุดโทรม สามารถใช้วิธีการอื่นๆ ได้นอกจากขุด คุ้ย รื้อ แทนที่ซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุผล ความจำเป็นในการทำโครงการนี้ขึ้นมา มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบหรือไม่อย่างไร แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในเรื่องทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 


แต่หากการตรวจสอบพบว่าการดำเนินการโครงการไม่เหมาะสม ในเรื่อง วินัย การเงิน การคลัง หรือ เรื่องประโยชน์ ประหยัด และคุ้มค่า ในการใช้งบประมาณ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง ก็จะประสานข้อมูลให้กับทาง สํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ดำเนินการตรวจสอบต่อไป 


เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลในเรื่องของโครงการว่าดำเนินการกี่สาย งบประมาณเท่าไร ทราบว่าดำเนินการในถนนหลายสาย จึงให้ทางเทศบาลนครตรัง เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อความโปร่งใส ว่าโครงการทั้งหมดที่จ่ายขาดเงินสะสม มีทั้งหมดกี่สาย งบประมาณกี่ร้อยล้านบาท แต่ละสายมีเหตุผลความจำเป็นเชิงวิศวกร เชิงวิศวกรรม อย่างไรบ้าง ถึงได้ตั้งงบประมาณในการซ่อมแซม เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลต่างๆ 


“วันนี้หน่วยงานของรัฐ ต้องฟังเสียงประชาชน หากในอดีตจะต้องจัดทำประชาคม แต่ปัจจุบันนี้ มีเพจ มีสื่อโซเชียล ออนไลน์ต่างๆ ที่ประชาชนให้ความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพราะต่างก็เป็นห่วงในการใช้จ่ายงบประมาณ ก็สมควรจะรับฟังประชาชนในพื้นที่ และต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน ได้เข้าใจ เหตุผล ความจำเป็นในการจัดทำบริการสาธารณะต่างๆของเทศบาลนครตรัง เพื่อความโปร่งใส ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริงอีกทางหนึ่งด้วย” นายยุทธนา กล่าวทิ้งท้าย 


นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง และกรรมการธรรมาภิบาล จ.ตรัง กล่าวว่า ถนนบางส่วนเช่นภายในสนามกีฬากลางเทศบาลนครตรัง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ที่มีประชาชนออกมาใช้สำหรับวิ่งออกกำลังกาย เห็นควรว่าจะต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซม เพราะสภาพถนนเดิมมีปัญหาอยู่สำหรับผู้ที่ใช้ออกกำลังกาย แต่ในถนนบางสายที่ประชาชนร้องเรียนมาว่าถนนยังดีอยู่นั้น ทางฝ่ายกองช่างเทศบาลชี้แจงว่า แม้ชาวบ้านจะเห็นว่าถนนดีอยู่ แต่ในความเป็นจริงถนนหมดอายุแล้ว มีรอยแตกร้าว หากปล่อยผ่านนานไป อาจจะต้องจ่ายค่าซ่อมที่มากกว่านี้ 


แต่จากการตรวจสอบยังเห็นว่า ถนนบางสายใช้ได้ดีอยู่ เช่น 2-5 ปี ยังใช้ต่อไปได้อยู่ ไม่ควรจะรีบรื้อรีบซ่อม เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ นำไปใช้ในส่วนอื่น ยิ่งในยุคนี้ งบประมาณแผ่นดินที่ส่งมายังท้องถิ่นไม่มาก ก็อยากให้ท้องถิ่นคำนึงถึงการใช้เงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนให้ได้ประโยชน์กับประชาชนมากกว่านี้ ถนนบางสายสมควรยิ่งที่จะต้องซ่อมแซม แต่บางสายควรจะต้องชะลอระยะเวลาในการรื้อทำใหม่เอาไว้ 


นายธวัช องศารา ผู้อำนวยการส่วนควบคุมการก่อสร้างอาคารและผังเมือง สำนักช่างเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ได้รับตรงจากส่วนกลาง หรืองบประมาณปกติเทศบัญญัติ งบเฉพาะกิจ และงบจ่ายขาดสะสม หลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่นงบประมาณรื้อผิวถนนภายในสนามกีฬากลางเทศบาลนครตรังประมาณ 10 ล้านบาท เพราะสภาพผิวถนนที่มีคนมาใช้ออกกำลังกายจะเกิดอันตรายได้ จากการสำรวจจุดสนามกีฬา พบว่าชั้นล่างของใต้ผิวจราจร มีความหนาของชั้นพื้นทางไม่มากเพียงพอ จึงได้รื้อและลงหินคลุกเป็นชั้นพื้นทางใหม่อีก 20 เซนติเมตร และปูถนนแอสฟัลท์ติกอีก 5 เซนติเมตรเต็มพื้นที่ของสนามกีฬา 


ส่วนในเส้นทางอื่นเราก็สำรวจแล้วว่ามีความเสียหาย บางส่วนเสียหายที่ผิวถนน บางส่วนเสียหายที่โครงสร้างพื้นฐานของถนน การก่อสร้างแต่ละเส้นทางรูปแบบไม่เหมือนกัน บางเส้นทางปูทับของเดิม บางเส้นทางรื้อชั้นโครงสร้างพื้นฐานทางเดิม เพื่อทำการปรับปรุงใหม่ บางส่วนเป็นการ รีไซกิ้ง (Recycling) เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย 


กรณีที่ชาวบ้านมองว่าถนนที่มีการปรับปรุง ชาวบ้านอาจจะเห็นด้วยการสัมผัสทางสายตาว่ายังมีความราบเรียบอยู่ แต่ในความราบเรียบนั้น บางครั้งก็มีความเสียหายอยู่ อาจจะมีร่องล้อรถบ้าง อาจจะมีปริมาณของยางที่มากขึ้น ความสากของผิวที่น้อยลง มีรอยแตก หากไม่ปรับปรุงซ่อมแซมหรือให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น วันข้างหน้าอาจเกิดความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการที่จะปรับปรุงวันข้างหน้า มีมูลค่าสูงมากกว่านี้หลายเท่า วันนี้เราทำในราคาขนาดนี้ อีก 5-10 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น ทุกอย่างดำเนินการถูกต้องตั้งแต่ขั้นตอนความต้องการของประชาชน การจัดทำแผนพัฒนา ขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ขบวนการตรวจรับ ทำตามระเบียบทุกประการ วันนี้ไม่ปรับปรุงวันหน้าก็ต้องปรับปรุงเพราะเกิดความเสียหาย ซึ่งที่ประชาชนกังวลว่าไม่เหมาะสม ลึกๆเราวิเคราะห์ คำนึงถึงโครงสร้างทางวิศวกรรม  


ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า เทศบาลนครตรัง ได้จัดทำโครงการ ปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 รวม 34 โครงการ จำนวน 170,529,480.16 บาท ซึ่งเป็นยอดจำนวนเงินตั้งต้น ที่ยังไม่เคาะประมูล และไม่ตรงตามเบิกจ่ายจริง ซึ่งบางโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว บางโครงการกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ บางโครงการยังไม่เริ่มดำเนินการ.

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง