อีสานตอนล่างป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 5.1 หมื่น ดับ 12 ราย แนวโน้มป่วยเพิ่ม

อีสานตอนล่างป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 5.1 หมื่น ดับ 12 ราย แนวโน้มป่วยเพิ่ม

20403 ต.ค. 67 15:58   |     Tum1

อีสานตอนล่างป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 5.1 หมื่น ดับ 12 ราย แนวโน้มป่วยเพิ่ม ย้ำ 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกัน

วันที่ 3 ตุลาคม 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้ออกมาเปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มนักเรียน แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ กับผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวและไม่รับวัคซีน ซึ่งสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม – 30 กันยายน 2567 มีผู้ป่วยสะสมมากถึง 51,574 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 12 ราย กลุ่มเด็กอายุ 4 ปีพบป่วยมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี และกลุ่มเด็กอายุ 3 ปีตามลำดับ เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า 

  • จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 25,623 ราย และเสียชีวิตสะสม 10 ราย
  • จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 10,336 ราย
  • จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 7,957 ราย
  • จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 7,658 ราย เสียชีวิตสะสม 2 ราย



ดังนั้น ขอให้ประชาชนป้องกันตนเอง ไม่ให้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ด้วยการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หากจำเป็นต้องเข้าไปควรสวมหน้ากากทุกครั้ง เนื่องจาก ช่วงหน้าฝนเป็นฤดูกาลที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด สามารถติดต่อกันได้ทุกเพศทุกวัย และมักพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น ในโรงเรียน , เรือนจำ ค่ายทหาร หรือสถานที่ทำงาน โดยอาการป่วยจะมีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ต้องให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ให้ไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นสิ่งที่จำเป็น ได้แก่ 

  1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน
  3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน
  4. ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  5. คนที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
  6. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI ค่าดัชนีมวลกาย มากกว่า 35 กก./ตรม.
  7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 





โดย 7 กลุ่มเสี่ยง สามารถไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และขอให้ดูแลรักษาอนามัยส่วนบุคคล ย้ำว่า เมื่ออยู่ในที่ที่มีคนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง