ผบ.ทร.เปิดอนุสรณ์สถาน 'เรือหลวงสุโขทัย'

ผบ.ทร.เปิดอนุสรณ์สถาน 'เรือหลวงสุโขทัย'

21227 ก.ย. 67 15:56   |     AdminNews

ผบ.ทร. เปิด“อนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัย” วางพวงมาลาไว้อาลัย รำลึกเชิดชูเกียรติ 29 วีรชนผู้กล้าหาญ

วันที่ 27 ก.ย.67 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย คุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานเปิดแพรป้าย พร้อมวางพวงมาลา แสดงความไว้อาลัยแด่ “อนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัย” โดยมี พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) กล่าววัตถุประสงค์การดำเนินโครงการฯ พร้อมนำคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูง ข้าราชการ ทหาร และครอบครัว เข้าร่วมในพิธีที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติ ณ บริเวณข้างกองบัญชาการ กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

อนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัยแห่งนี้ จะคงไว้ซึ่งความทรงจำเกียรติประวัติของเรือหลวงสุโขทัย จากเหตุการณ์อับปาง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 รวมทั้ง เพื่อเชิดชูเกียรติ และรำลึกถึงกำลังพลผู้เสียชีวิตและสูญหาย ทั้ง 29 นาย ที่ได้สละชีวิตปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญตลอดไป 

พลเรือเอก ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวว่า ในการปฏิบัติภารกิจการค้นหา และปลดวัตถุอันตราย เรือหลวงสุโขทัย หรือ Light Salvage ร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2567 กองทัพเรือ ได้ทำการกู้สิ่งของที่สำคัญ และมีคุณค่าทางจิตใจของเรือหลวงสุโขทัยจากใต้ทะเลขึ้นมา เพื่อจัดทำเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเชิดชูเกียรติ และรำลึกถึงเรือหลวงสุโขทัย รวมทั้งกำลังพลที่เสียชีวิต และสูญหายจำนวน 29 นาย ที่ได้สละชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยสิ่งของสำคัญที่นำขึ้นมาได้ ได้แก่ ป้ายเรือหลวงสุโขทัย พญาครุฑประจำเรือ เสากระโดงเรือ ป้ายขึ้นระวางประจำการ ป้ายรายนามผู้บังคับการเรือ สมอเรือทั้งกราบขวา-ซ้าย และระฆังเรือ 

กองเรือยุทธการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างอนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัย มีเสนาธิการกองเรือยุทธการ เป็นประธานกรรมการ เพื่อวางแผน รวมทั้งกำหนดแนวคิด รูปแบบ สถานที่ก่อสร้าง และให้กรมช่างโยธาทหารเรือออกแบบ สำหรับ การก่อสร้างมีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ แท่งป้ายรายนามผู้เสียชีวิตและสูญหาย แบบแผ่นป้ายรวม และแบบรายบุคคล ลักษณะรูปทรงกระดูกงูเรือ จำนวน 29 แท่น เสากระโดงเรือ พญาครุฑ และเรดาร์บนฐานจำลอง ตั้งอยู่บริเวณใจกลางอนุสรณ์สถาน และอาคารแสดงประวัติ คุณลักษณะ และเกียรติประวัติของเรือหลวงสุโขทัย 

จากนั้น กองทัพเรือ ได้อนุมัติหลักการและงบประมาณให้กองเรือยุทธการ จ้างก่อสร้างอนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัย ตามกระบวนการที่พระราชบัญญัติและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด และได้ตกลงจ้าง บริษัท วิน ทู วิคตอรี่ คอนซัลแทนท์ แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด ทำการก่อสร้างอนุสรณ์สถานเรือหลวงสุโขทัย แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 

สำหรับรายนาม ผู้เสียชีวิตทั้ง 29 นาย ประกอบด้วย กำลังพลประจำเรือหลวงสุโขทัย 18 นาย คือ พลเรือโท พลรัตน์ สิโรดม พลเรือตรี สามารถ แก้ว: ก นาวาตรี คุณากร จริยศ นาวาตรี อัชชา แก้วสุพรรณ์ เรือตรี จักรพงค์ พูลผล เรือตรี ชูชัย เชิดชิด เรือตรี บุญเลิศ ทองทิพย์ พันจ่าเอก สหรัฐ อีสา พันจ่าเอก โสภณ วงษ์สนิท พันจ่าโท นพณัฐ คำวงค์ พันจ่าโท ศราวุธ นาดี พันจ่าโท ศุภกิจ ทิวาลัย พันจ่าโท สถาพร สมเหนือ พันจ่าโท สิริธิติ งามทอง จ่าเอก ปรีชา รักษาภักดี จ่าเอก อัครเดช โพธิบัติ จ่าเอก ชลัช อ้อยทอง จ่าเอก ชัยชนะ ช่างวาด สังกัดหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน 7 นาย คือ ว่าที่นาวาตรี สมเกียรติ หมายชอบ ว่าที่นาวาตรี จิราวัฒน์ เจริญศิลป์ พันจ่าเอก ธวัชชัย สาพิราช จ่าเอก จําลอง แสนแก จ่าเอก จิราวัฒน์ ธูปหอม จ่าเอก สิทธิพงศ์ หงษ์ทอง จ่าเอก ทวีศักดิ์ แซ่เซียว และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง 4 นาย คือ ว่าที่นาวาตรี อานาจ พิมที ว่าที่เรือตรี ไพร ร่วมญาติ จ่าเอก วรพงษ์ บุญละคร และจ่าเอก อับดุลอาซิส มะแอ

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง