เปิดข้อมูลปี 66 อุบัติเหตุทางถนนคร่าชีวิต เยาวชนไทยกว่า 3,000 คน บาดเจ็บนับแสนราย
เปิดข้อมูลปี 66 อุบัติเหตุทางถนนคร่าชีวิต เยาวชนไทยกว่า 3,000 คน บาดเจ็บนับแสนราย
คนรุ่นใหม่ รวมใจลดอุบัติเหตุ สสส. สานพลัง พม.-ภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังเด็ก-เยาวชน นำร่อง 8 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนกลไกการป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนน หลังพบข้อมูลปี 66 เยาวชนไทยดับเซ่นอุบัติเหตุทางถนนกว่า 3,000 คน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนของเด็ก และเยาวชน เพราะเป็นอุปสรรคต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย ในปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 17,498 คน เฉพาะเยาวชนอายุ 15-24 ปี พบเกิดอุบัติเหตุทางถนน 181,922 คน เสียชีวิต 3,004 คน
จากสถานการณ์สำคัญนี้ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย และสภาเด็กและเยาวชนทั้ง 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สระแก้ว ศรีสะเกษ หนองคาย น่าน ตาก และนครศรีธรรมราช ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน โดยเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานทั้งระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ ในการสะท้อนข้อมูลปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน ร่วมคิดวางแผน สื่อสารความเสี่ยง แก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยง และเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อลดความสูญเสียในเด็กและเยาวชน ตามแนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน
สสส. และภาคีเครือข่ายมุ่งหวังให้
1. เกิดเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นแบบที่จะเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนงานด้านประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ เกิดการพูดหรือสะท้อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่และทำให้สังคมให้ความสำคัญและตระหนักมากขึ้น
2. เด็กและเยาวชนที่สามารถเป็นนักสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ (Policy Maker) ในประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ที่สามารถผลักดันให้เกิดข้อสั่งการเพื่อแก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยงหน้าโรงเรียนหรือชุมชน
3. เด็กและเยาวชนสามารถเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนได้อย่างต่อเนื่องให้กับประเทศในรุ่นต่อไป และสำคัญที่สุด เด็กและเยาวชนต้องปลอดภัยทุกครั้งที่เดินทาง
นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของกระทรวงพม. โดยกรมกิจการเด็ก และเยาวชน คือการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาเด็ก และเยาวชนทุกระดับในทุกจังหวัด ตั้งแต่สภาเด็กและเยาวชนตำบล/เทศบาล สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด สภาเด็กและเยาวชนเขต(กรุงเทพมหานคร) สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยได้หนุนเสริมบทบาทของเด็ก และเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน สะท้อนถึงปัญหาที่พบ และร่วมแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดนโยบายและแนวทางปฏิบัติงานที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ผ่านเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน ตลอดจนผลักดันให้เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็น 1 ในประเด็นสำคัญของเยาวชนที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนในการแก้ไขปัญหา
นายสุธี ชุดชา รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจเครือข่ายสภาเด็กฯ ที่เข้าร่วมโครงการ เห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเคยพบเห็นอุบัติเหตุขณะเดินทาง 80% มีคนในครอบครัวหรือเพื่อนเคยเกิดอุบัติเหตุ 85% และตัวเองเคยเกิดอุบัติ 59% ทั้งนี้กว่า 93% ระบุว่า อยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งตนก็เชื่อมั่นในศักยภาพและพลังของเครือข่ายสภาเด็กฯ ว่าจะจะสามารถร่วมพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ๆ ในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้
Miss Olufunke Afesojaye ผู้แทนจาก Global Youth Coalition for road safety ซึ่งเป็นเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนที่มีเยาวชนกว่า 2,400 คนจาก 129 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก กล่าวว่า บทเรียนในการขับเคลื่อนบทบาทเยาวชนเพื่อกำหนดนโยบายความปลอดภัยทางถนน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) พร้อมกับมีการพัฒนาเครื่องมือและทักษะในการมีส่วนร่วมของเยาวชน ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาเยาวชนโลกครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ที่ประเทศโมร็อคโค จะมีเป้าสำคัญคือ เรียกร้องให้เพิ่มการลงทุน ความร่วมมือและความรับผิดชอบจากหลายภาคส่วนอย่างจริงจัง เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573