พิเชษฐ์ รองปธ.สภาฯ ตั้ง"ระฆังร้องทุกข์"เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รับร้องทุกข์

พิเชษฐ์ รองปธ.สภาฯ ตั้ง"ระฆังร้องทุกข์"เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รับร้องทุกข์

51721 ส.ค. 67 16:45   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

พิเชษฐ์ รองปธ.สภาฯ ตั้ง"ระฆังร้องทุกข์"เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รับร้องทุกข์ เตรียมเปิดใช้อีก 1 - 2 สัปดาห์

(21ส.ค.67) ที่ อาคารรัฐสภา หลังจากที่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 มีดำริให้นำระฆังโบราณ หรือ "ระฆังร้องทุกข์"มาไว้ด้านหน้าทางเข้าอาคารรัฐสภาหรือหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถเข้ามาสั่นระฆังร้องเรียนความเดือดร้อนของตนเองได้



ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า หลังจากที่ทำการย้ายสภามายังสภาแห่งใหม่ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. ทำให้จุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ยังไม่มีจุดเป็นหลักเป็นแหล่งจึงนำบริเวณด้านหน้าทางเข้าสภาที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนมาใช้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและง่ายต่อการเดินทางเข้ามาร้องทุกข์  



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนขั้นตอนการดำเนินการร้องทุกข์ ผู้ที่มาร้องจะต้องนำเอกสารและหลักฐานที่มีมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่พนักงาน ในจุดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำเรื่องส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสียก่อน โดยจะใช้ระยะเวลา 3 - 5 วัน จึงจะสามารถส่งเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชนได้ 


ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า ปัจจุบันยังจุดหรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ยังไม่เปิดให้บริการ คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาสั่น"ระฆังร้องทุกข์"ได้อีกประมาณ 1-2 สัปดาห์หน้า ส่วนประชาชนท่านใดไม่ต้องสั่นระฆังก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องมีเอกสารและหลักฐานมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่พนักงาน 


ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ส่วนจุดประสงค์หลักในการนำระฆังโบราณหรือ"ระฆังร้องทุกข์"มาตั้งเอาไว้นั้นเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ว่าจุดดังกล่าว เป็นจุดที่เอาไว้รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง โดยเป็นแนวคิดของ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 


สำหรับประชาชนที่ต้องการเข้ามาร้องทุกข์ สามารถเดินทางมาได้ตั้งแต่ วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 - 16.30 น. หรือเวลาทำการราชการตามปกติ รวมทั้งยังสามารถร้องทุกข์ผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ อาทิ การส่งจดหมาย , อีเมล , SMS , เบอร์โทรศัพท์ และอื่น ๆ รวม 5 - 6 ช่องทาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการร้องทุกข์ของประชาชน


อย่างไรก็ตาม"ระฆังร้องทุกข์"ดังกล่าว เป็นการหล่อเหมือนขึ้นใหม่ โดยการเรียนแบบของเก่า ซึ่งมีโลโก้สภาด้านหน้าและด้านหลัง รวมทั้งมีกำกับปี พ.ศ. 2567 ด้วย 


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง