'ทุเรียนแช่เยือกแข็ง' ตอบโจทย์การส่งออกตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่
'ทุเรียนแช่เยือกแข็ง' ตอบโจทย์การส่งออกตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่
ซินโครตรอน กระทรวง อว. ชูผลงานเด่น 'ทุเรียนแช่เยือกแข็ง' ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ’67 เพื่อตอบโจทย์การส่งออกตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ส่งผลงานทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออก เข้าร่วมจัดแสดงภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” ชูจุดเด่นของผลงานช่วยคงความสดใหม่ให้ทุเรียนได้นาน 12 เดือน ตอบโจทย์การส่งออกตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ โดยนิทรรศการของสถาบันฯ จัดแสดงที่บูธ CL3 และหนึ่งในผลงานเด่นที่สถาบันฯ จัดแสดงคือผลงาน “แสงซินโครตรอนยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกมุ่งเน้นเศรษฐกิจใหม่”
ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง หัวหน้าส่วนวิจัยด้านอาหารและการเกษตร สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เจ้าของผลงานทุเรียนแช่เยือกแข็งกล่าวว่า เราได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เพื่อการรักษาคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็ง โดยได้พัฒนากระบวนการแช่เยือกแข็ง (Cryogenic Freezing) ร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ (Cryoprotectant) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสด ที่ช่วยคงคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ได้ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกทุเรียนด้วยแสงซินโครตรอน
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนติดตามการเปลี่ยนแปลงในทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งมี 3 เทคนิคที่ใช้ คือ เทคนิคที่ใช้แสงอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอนในการวิเคราะห์องค์ประกอบภายในทุเรียน เทคนิคเอกซเรย์โทโมกราฟีหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติเพื่อศึกษาโครงสร้าง 3 มิติของทุเรียนแช่แข็ง และเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบของตัวอย่างเนื้อทุเรียนที่แช่แข็งร่วมกับสารละลายไครโอโพรเทกแทนต์ชนิดต่างๆ
“ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคต่างๆ ข้างต้นพบว่า คุณภาพทางกายภาพและโครงสร้างทางเคมีของทุเรียนแช่เยือกแข็งมีความใกล้เคียงกับทุเรียนสดใหม่ และเมื่อทดสอบทางประสาทสัมผัสได้ผลว่าผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่เยือกแข็งที่อายุการเก็บรักษานาน 12 เดือน ไม่แตกต่างจากทุเรียนสดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับทุเรียนแช่เยือกแข็ง เพื่อการส่งออกสู่การมุ่งเน้นตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ สามารถผลิตทุเรียนสดนอกฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี และช่วยเหลือชุมชนในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร” ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังนำผลงานอื่นมาจัดแสดง อาทิ ระบบห่อหุ้ม mRNA โดยใช้เทคโนโลยีไมโครฟลูอิดิกส์ สำหรับการพัฒนาวัคซีน mRNA โดยคนไทยเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบสาธารณสุขไทย ระบบสุญญากาศแบบ NEG Pump เพื่อผลิตสุญญากาศโดยไม่ใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องเร่งอนุภาค และห้องสุญญากาศอะคริลิคเพื่อรักษาสภาพฟอลซิลกระดูกช้างโบราณสำหรับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงได้นำตัวอย่างผลงานผลิตภัณฑ์ที่ร่วมพัฒนากับภาคอุตสาหกรรมมาจัดแสดงในงานนี้อีกด้วย