วันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก 2567 10 ปี แห่งการให้... ให้ STEM CELLS = ให้ชีวิต”
วันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก 2567 10 ปี แห่งการให้... ให้ STEM CELLS = ให้ชีวิต”
ร่วมเฉลิมฉลอง “10 ปี แห่งการให้...ให้ STEM CELLS = ให้ชีวิต” เนื่องในวันผู้บริจาคสเต็มเซลล์โลก 2567
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เฉลิมฉลอง 10 ปี วันผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตโลก ในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ให้ STEM CELLS = ให้ชีวิต” ชวนร่วมบริจาคโลหิต พร้อมกับลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์ ช่วยผู้ป่วยโรคเลือด ระหว่างวันที่ 1 - 30 กันยายน 2567 ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม(บางแค) ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา รับเสื้อยืด “Stem Cells Thailand–Thank You Stem Cells Donor” เป็นที่ระลึกแทนคำขอบคุณ พร้อมประกาศความสำเร็จ “ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ” ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพงานเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตระดับสากล WMDA Full Standards certification จากองค์กรระดับโลก WMDA เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่องค์กร World Marrow Donor Association (WMDA) กำหนดให้วันเสาร์ที่ 3 ของเดือนกันยายนของทุกปี เป็นวันผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตโลก (World Marrow Donor Day) ในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2567 โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 มีมากกว่า 61 ประเทศ ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการขอบคุณผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต และอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตหรือสเต็มเซลล์ทั่วโลก
อีกทั้งเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของการจัดหาอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์กว่า 41 ล้านคน ทั่วโลก ซึ่งทั่วโลกยังมีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มากกว่า 30,000 รายต่อปี ในประเทศไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากแพทยสภา ให้จัดตั้ง “ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ”(Thai National Stem Cell Donor Registry : TSCDR) เป็นศูนย์กลางทะเบียนผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต และเป็นหน่วยงานเดียวที่มีหน้าที่ในการจัดหาอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติ ให้กับผู้ป่วย ตั้งแต่ปี 2545 เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์สเต็มเซลล์ได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน มีผู้บริจาคโลหิตที่ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเสต็มเซลล์ จำนวน 343,179 ราย แต่มีผู้บริจาคสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้ป่วยเป็นผลสำเร็จ จำนวน 632 ราย และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ อีก 3,178 ราย อาทิ ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น