อาชีวะไทยสุดเจ๋ง พัฒนา ‘รถไถไฟฟ้า’ ประหยัด 10 เท่า

อาชีวะไทยสุดเจ๋ง พัฒนา ‘รถไถไฟฟ้า’ ประหยัด 10 เท่า

358426 ธ.ค. 67 15:03   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ฝีมืออาชีวะไทยสุดเจ๋ง พัฒนาหัวรถไถไฟฟ้า ไถนาก็ได้-ใส่แทนเครื่องรถอีแต๋นก็วิ่งฉิว ชาร์จไฟ 30 บาท ใช้ได้ทั้งวัน ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันให้ชาวนาได้ 10 เท่า

(26 ธ.ค. 67) ที่วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย คณะอาจารย์และลูกศิษย์ได้ร่วมกันพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ “หัวรถไถไฟฟ้า” SIEC EV TRACTOR นวัตกรรมรักษ์โลก ไร้มลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นพลังงานไฟฟ้าประหยัดกว่าถึง 10 เท่า แค่ชาร์จไฟบ้านครั้งเดียวประมาณ 30 บาท ก็สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวัน


อาจารย์ไพลรัตน์  สำลี หัวหน้างานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย เปิดเผยว่า ได้คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนา “หัวรถไถไฟฟ้า” มานานหลายปีแล้ว จนสำเร็จใช้งานได้จริง ซึ่งข้อดีนั้นมีมากมาย ทั้งช่วยลดมลพิษทางเสียง-ทางอากาศ (ไร้ควันดำ) ที่สำคัญประหยัดกว่าใช้น้ำมันถึง 10 เท่า และราคาเครื่องก็ถูกกว่า โดยหัวรถไถไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาท ส่วนหัวรถไถทั่วไปราคาจะอยู่ที่ 40,000 กว่าบาท



สำหรับการใช้งานหัวรถไถไฟฟ้า เวลาชาร์จ 3 ชั่วโมง จะทำงานต่อเนื่องได้ 15 ชั่วโมง เครื่อง 10 แรงม้า ขนาดแบตเตอรี่ 7.2 กิโลวัตต์ มอเตอร์ 7.8 กิโลวัตต์ ระบายความร้อนด้วยอากาศ น้ำหนัก 120 กิโลกรัม อัตราสิ้นเปลือง 30 บาทต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง มีระบบไฟส่องสว่าง และสวิตช์หยุดฉุกเฉิน สามารถใช้สูบน้ำ เปลี่ยนใส่แทนหัวรถไถ-รถอีแต๋นได้เลย เพราะตำแหน่งน็อตตรงกันเท่ากันกับหัวรถไถทั่วไป


ขณะที่ส่วนประกอบบนตัวเครื่อง ก็จะมีสวิตช์เปิด-ปิดเครื่อง สวิตช์เดินหน้า-ถอยหลัง สวิตช์ไฟส่องสว่าง พร้อมทั้งคันเร่ง จอแสดงผลต่างๆ รูชาร์จแบบ Type 2 และสวิตช์ป้องกันฉุกเฉิน ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ควบคุมความเร็วไม่ได้ คิดอะไรไม่ออกก็ให้กดปุ่มแดงหยุดฉุกเฉินได้เลย ระบบจะตัดการทำงานทันที



อาจารย์ไพลรัตน์ เผยอีกว่า ถ้าชาร์จไฟใช้งานวันละครั้ง อายุการใช้งานจะยาวนานถึง 10 ปี แล้วค่อยไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ ใครสนใจก็ติดต่อสอบถามมาได้ เพราะสามารถผลิตใช้งานได้จริง พร้อมมีชุดสายชาร์จมาตรฐานเสียบชาร์จกับไฟบ้าน หรือจะแวะจอดชาร์จในปั๊ม EV ก็ได้


นอกจากนี้ “หัวรถไถไฟฟ้า” นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย ยังสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ สิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 3 ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสิ่งแวดล้อม ระดับกลุ่มจังหวัด สุโขทัยและอุตรดิตถ์ ประจำปีการศึกษา 2567 อีกด้วย




TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง