“ดัชนีความร้อน” คืออะไร? ทำไมอุณหภูมิเท่ากันแต่ร้อนไม่เหมือนกัน!
“ดัชนีความร้อน” คืออะไร? ทำไมอุณหภูมิเท่ากันแต่ร้อนไม่เหมือนกัน!
22822 เม.ย. 68 13:32 | 
ข่าวเวิร์คพอยท์

ทำความรู้จักค่าดัชนีความร้อน(Heat Index) ที่ไม่ใช่แค่อุณหภูมิ แต่เป็นตัวชี้ว่าเรารู้สึก “ร้อน” และ “อันตราย” แค่ไหน พร้อมคำเตือน-ข้อควรปฏิบัติขณะเผชิญกับดัชนีความร้อนระดับต่างๆ
ค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คือค่าที่ใช้วัดว่า “ร่างกายมนุษย์รู้สึกว่าร้อนแค่ไหน” โดยค่าดัชนีความร้อนนี้ไม่ได้พิจารณาแค่อุณหภูมิที่วัดได้เพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาร่วมไปกับค่าความชื้นในอากาศด้วย
ที่ต้องดูค่าความชื้นด้วยก็เพราะเมื่ออากาศชื้นมาก ร่างกายมนุษย์จะระบายความร้อนผ่าน “เหงื่อ” ได้ยากขึ้น เมื่อเหงื่อไม่ระเหย = ร่างกายไม่เย็นลง = รู้สึกร้อนขึ้นกว่าเดิม
ค่าดัชนีความร้อนจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
- เฝ้าระวัง(สีเขียว) - ดัชนีความร้อน 27 - 32.9 องศาเซลเซียส เมื่อสัมผัสความร้อนและทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายมีอาการเบื้องต้น เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นจากความร้อน บวมจากความร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นำไปสู่การเกิดตะคริวจากความร้อนได้
- เตือนภัย(สีเหลือง) - ดัชนีความร้อน 33 - 41.9 องศาเซลเซียส เมื่อสัมผัสความร้อนและทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นตะคริวจากความร้อน และเกิดโรคเพลียแดดจากความร้อนได้ และอาจส่งผลให้เกิดโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก
- อันตราย(สีส้ม) - ดัชนีความร้อน 42 - 51.9 องศาเซลเซียส เมื่อสัมผัสความร้อนและทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดตะคริวจากความร้อนและเกิดโรคเพลียแดดจากความร้อน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรกได้ หากสัมผัสกับความร้อนอย่างต่อเนื่อง
- อันตรายมาก(สีแดง) - ดัชนีความร้อน 52 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อสัมผัสความร้อนและทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก
เมื่อร่างกายเจอกับดัชนีความร้อนที่สูง ร่างกายจะพยายามควบคุมอุณหภูมิภายในโดยการขับเหงื่อ แต่ถ้าอากาศชื้นจนเหงื่อระเหยไม่ทัน ร่างกายจะ “เก็บความร้อนไว้ข้างใน” ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น
- ตะคริวจากความร้อน(Heat Cramps): อาการปวดและกล้ามเนื้อหดเกร็ง สาเหตุจากเหงื่อออกมากและร่างกายสูญเสียเกลือแร่เป็นจำนวนมาก และอาจมีผลมาจากการที่ดื่มน้ำเย็นจัดอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ภายหลังจากเสียเหงื่อในที่อากาศร้อนจัด
- ภาวะเพลียแดด(Heat Exhaustion): อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังเย็น มือสั่น ใจสั่น สาเหตุมาจากการอยู่ในที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นเวลานาน
- โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก(Heat Stroke): อันตรายที่สุด อุณหภูมิร่างกายพุ่งสูงเกิน 40°C ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ในไม่กี่นาที
คำแนะนำหากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าดัชนีความร้อนสูง
- ดื่มน้ำบ่อยๆ แม้ไม่รู้สึกกระหาย
- หลีกเลี่ยงออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งช่วงแดดแรง (11:00 – 15:00 น.)
- ใส่เสื้อผ้าโปร่ง สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี
- ใช้หมวก ร่ม หรืออยู่ในที่ร่มเมื่อออกนอกบ้าน
- พักเป็นระยะหากต้องทำงานกลางแจ้ง
- สังเกตอาการผิดปกติ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ เหงื่อไม่ออก — ให้รีบหาที่เย็นและขอความช่วยเหลือทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง: 6 ขั้นตอนปฐมพยาบาลอาการ “ฮีทสโตรก” จากอากาศร้อนจัด
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บทความ
46625 เม.ย. 68 17:28