ภัยเงียบฝุ่น PM 2.5 ต้นเหตุของโรคร้าย
ภัยเงียบฝุ่น PM 2.5 ต้นเหตุของโรคร้าย
PM 2.5 ฝุ่นอนุภาคเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ แต่สุดอันตราย เป็น 1 ในปัจจัยเกิดหลายโรค ท่ามกลางวิกฤตฝุ่นพิษ ข่าวเวิร์คพอยท์23 อยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาสำรวจอาการตัวเองว่าเข้าข่าย “ป่วยเพราะฝุ่น” หรือไม่ พร้อมวิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากฝุ่นพิษ
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)
PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าผมมนุษย์มาก และสามารถลอยในอากาศได้เป็นเวลานาน ทำให้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่ายเมื่อเราหายใจเข้าไป และเจ้าฝุ่นอนุภาคจิ๋วนี่เอง ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้หลากหลาย ทั้ง
1.โรคในระบบทางเดินหายใจ
• หอบหืด เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายใน และจากสิ่งแวดล้อม
อาการ: ไอต่อเนื่องนาน 2-3 สัปดาห์ หายใจมีเสียงหวีด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หากอาการหนักอาจทำให้หายใจไม่ออก ไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ และไม่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ เกิดระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด
• หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศหายใจเข้าสู่ปอด
อาการ: มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ เหนื่อยง่าย หายใจเข้าออกไม่สุด หายใจได้ยินเสียงวี้ด เจ็บหน้าอก มีไข้ น้ำหนักลด มักจะรับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร และในช่วงที่มีอากาศเย็นหรือมลพิษทางอากาศอาการจะแย่ลง
• ปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือ หลอดลม เนื้อปอด และ หลอดเลือดปอดเกิดการอักเสบเสียหาย เนื่องจากได้รับแก๊ส หรือ สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นระยะเวลานาน
อาการ: ระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการ จนกระทั่งปอดถูกทำลายมากขึ้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ ไอเรื้อรัง มีเสมหะมากโดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน รู้สึกเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง
•โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังที่ทำให้การไหลเวียนของอากาศในปอดยากขึ้น โดยเกิดจากการทำลายถุงลม หรือการอุดตันของหลอดลม ทำให้มีอาการหายใจลำบากและอาจนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวในระยะยาว โดยสาเหตุหลักเกิดมาจากการสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ การสัมผัสสารเคมี และพันธุกรรม
อาการ: หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง มีเสมหะ รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย หายใจเสียงดัง หายใจแหบๆ หรือเสียงวี๊ดขณะหายใจเข้าออก เนื่องจากการตีบแคบของหลอดลม น้ำหนักลด และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเนื่องจากปอดทำงานไม่เต็มที่
2.โรคหัวใจ เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
อาการ: เจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย บวมที่ขา เท้า หรือข้อเท้า เวียนศีรษะหรือหมดสติ หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ เหงื่อออกมากผิดปกติ คลื่นไส้หรืออาเจียนอยู่บ่อยครั้ง
3.โรคสมองเสื่อมจากภาวะขาดออกซิเจน เกิดจากการที่สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถเกิดจากภาวะหายใจไม่ออกหรือการหยุดหายใจ
อาการ: เบื้องต้นจะมีความรู้สึกมึนงง สับสน มีเหงื่อออกมาก การตัดสินใจแย่ลง เคลื่อนไหวลำบาก ขาดสมาธิ ความจำเสื่อมชั่วคราว แต่หากสมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการ หายใจสั้น เร็ว ติดขัด หายใจมีเสียงหวีด ดวงตาไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ชีพจรเต้นเร็ว ชักเกร็งกระตุก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิต
4.โรคเยื่อบุตาอักเสบ เป็นอาการอักเสบที่เกิดในส่วนของเยื่อบุตาขาว จนทำให้ตาขาวเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง ขึ้นอยู่กับระดับการอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ มักเป็นเชื้อโรคประเภทไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยที่อาจเผลอสัมผัสที่ดวงตาโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการไอจามรดกัน การใช้สิ่งของร่วมกันหรือการได้รับเชื้อโดยตรงจากพาพะนำโรค เช่น แมลงวัน แมลงหวี่
อาการ: เยื่อบุตาจะมีสีแดงหรือมีเลือดออกในหลอดเลือดเล็กๆ บริเวณตา เนื่องจากการอักเสบ รู้สึกระคายเคืองตา หรือแสบตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา มีน้ำตาออกมาก มีขี้ตา ตาพร่ามัวเนื่องจากขี้ตาหรือการอักเสบของเยื่อบุตา มีอาการบวมที่เปลือกตา เจ็บตาเล็กน้อย และมีความไวต่อแสง
5.โรคมะเร็งปอด เกิดจากการเติบโตผิดปกติของเซลล์ในปอด ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ มะเร็งปอดสามารถเกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้เซลล์ในปอดเกิดการกลายพันธุ์และการเจริญเติบโตที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสาเหตุหลักจากการสูบบุหรี่ การสัมผัสกับสารเคมีอันตราย และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5
อาการ: ไอเรื้อรัง เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ยาวนาน ไอเป็นเลือด หายใจหอบถี่ เสียงแหบ หายใจเสียงหวีด ปวดศีรษะ เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า มีอาการเจ็บหน้าอก รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดบริเวณไหล่ ปวดกระดูก มีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ และแขน
6.โรคผิวหนัง เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในอย่างการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความเครียดสะสม หรือปัจจัยภายนอก เช่น การอาบน้ำอุ่น การอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ไรฝุ่น เหงื่อ การสัมผัสกับสารที่กระตุ้นภูมิแพ้
อาการ: ผิวหนังแดงและบวม แห้งแตกเป็นขุยหรือมีรอยแตก คันผิวอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว มีผื่นขึ้นตามข้อพับ ตุ่มคันตามแขน ขา หรือลำตัว ผิวหนังเป็นแผ่นตกสะเก็ดและมีอาการแดง หากเป็นที่ศีรษะจะเกิดเป็นรังแคเรื้อรัง โดยมักเป็นตามผิวหนังที่มีความมัน เช่น ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตาและจมูก หน้าอกส่วนบน และหลัง จนนำไปสู่การเป็นโรคเซบเดิร์ม
วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5
- สวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง และต้องแนบสนิทกับใบหน้า เพื่อป้องกันฝุ่น
- เลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน ในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง
- หมั่นทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน
- เลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้า การจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน
- ใช้เครื่องฟอกอากาศ สามารถช่วยกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง:
- https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/pr-news/8600/
- https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-treatment/pm25-and-staggers
- https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/asthma
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคหอบหืด-โรคทางเดินหาย/
- https://www.nakornthon.com/article/detail/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8
- https://www.synphaet.co.th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87-chronic-o/
- http://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/emphysema
- https://www.bangkokhearthospital.com/content/observing-symptoms-of-coronary-artery-disease
- https://ch9airport.com/th/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81/
- https://www.bnhhospital.com//th/article/conjunctivitis
- http://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/lung-cancer
- https://www.medicallinelab.co.th/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1/dermatitis-skin-allergy-causes-symptoms-treatment/