11 ก.พ. วันสตรีและเด็กหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สากล

11 ก.พ. วันสตรีและเด็กหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สากล

14911 ก.พ. 68 18:22   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

รู้หรือไม่? 11 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันสตรีและเด็กหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สากล เพื่อร่วมเฉลิมฉลองและส่งเสริมให้ผู้หญิง ได้มีส่วนร่วมในสาขา STEM - วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มากขึ้น มาทำความรู้จัก 5 นักวิทยาศาสตร์หญิงไทย-เทศ ที่สร้างแรงบันดาลใจได้

(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)

ในปี 2025 ถือเป็นการครบรอบ 10 ปีของวันสตรีและเด็กหญิงในวงการวิทยาศาสตร์สากล (International Day of Women and Girls in Science) ถูกจัดขึ้นโดย องค์การสหประชาชาติ (UN) ตั้งแต่ปี 2015 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเด็กหญิงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในความพยายามระดับโลกเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมพลังผู้หญิง

 

นักวิทยาศาสตร์หญิงสร้างแรงบันดาลใจ


Marie Curie


นักฟิสิกส์และนักเคมี เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น เธอเกิดที่วอร์ซอ ศึกษาวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่ซอร์บอนน์ นอกจากนี้เธอยังเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีคนแรกได้รับรางวัลโนเบล


เธอทำงานร่วมกับสามีเพื่อศึกษากัมมันตภาพรังสี ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1898 พวกเขาได้ประกาศการค้นพบโพโลเนียมธาตุใหม่ และในช่วงปลายปีเดียวกันนั้น พวกเขาได้รายงานการค้นพบเรเดียม


  • ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1903 พร้อมด้วย อองรี เบ็กเกอเรล (นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดัง)
  • ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 1911

 

Rosalind Franklin



เป็นนักเคมีที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ผลึกด้วยรังสีเอกซ์เพื่อสร้างภาพที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างของโมเลกุลทางชีวภาพ เธอเกิดในครอบครัวชาวยิวที่ค่อนข้างร่ำรวย และฉลาดเป็นพิเศษเมื่อตอนยังเป็นเด็ก


เธอเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการค้นพบดีเอ็นเอ ตลอดจนศึกษาโครงสร้างของ อาร์เอ็นเอ และไวรัส


photo 51 เป็นชื่อที่ตั้งให้แก่ภาพถ่ายการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอ ถ่ายโดยเรย์มอนด์ กอสลิง นักศึกษาปริญญาเอกภายใต้การดูแลของโรซาลินด์ แฟรงคลิน เมื่อปี ค.ศ. 1952 เป็นภาพถ่ายที่มีส่วนสำคัญที่สามารถทำให้ระบุถึงโครงสร้างที่แท้จริงของดีเอ็นเอได้

 

Florence Rena Sabin



เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวอเมริกันที่เป็นที่รู้จักในฐานะนักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ Johns Hopkins School of Medicine, เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าสู่ National Academy of Sciences และเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นหัวหน้าแผนกที่ Rockefeller Institute for Medical Research


ในช่วงหลายปีที่เกษียณอายุ เธอได้ประกอบอาชีพที่สองเป็น นักรณรงค์ ด้านสาธารณสุขในโคโลราโด และในปี ค.ศ. 1951 ได้รับรางวัล  Albert Lasker Public Service Award


เธอเป็นที่รู้จักจากงานวิจัยเกี่ยวกับระบบน้ำเหลืองในร่างกายมนุษย์ รวมถึงการค้นพบเกี่ยวกับเส้นเลือดฝอยและโครงสร้างของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำเหลือง

 

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์



อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังเป็นนายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้เธอยังเป็นสตรีที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในสถาบันด้านวิทยาศาสตร์หลายแห่งทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ


หนึ่งในงานวิจัยสำคัญที่ทำให้ ศ.ดร.ศุภวรรณ มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติคือการพัฒนาด้าน ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) โดยเฉพาะชุด Small Lab Kit ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร รวม 4 ฉบับในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


Small Lab Kit ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization, UNESCO) รวมถึงมีการเผยแพร่เอกสารวิธีการใช้งานชุด Small Lab Kit อย่างละเอียดไว้ในเว็บไซต์ของ UNESCO ด้วย

 

รศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์



นักวิจัยด้านไบโอเซนเซอร์และเทคโนโลยีชีวการแพทย์ หรือหลายคนอาจรู้จักในตำแหน่งอาจารย์สอนชีวเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนโครงการ “Khon Kaen Smart City” ที่มีจุดมุ่งหมายพัฒนาให้จังหวัดขอนแก่นเป็น Smart Health Care & Medical Hub ทั้งระบบ นอกจากนี้เธอได้เป็นผู้เข้าชิงรางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิงปี 2017 ในงาน “ASEAN-US Science Prize for Women in 2017”

 

นี่เป็นเพียงแค่บางส่วนของนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีความสามารถและผลงานอันยอดเยี่ยม แต่ในความเป็นจริงยังมีนักวิทยาศาสตร์หญิงอีกมากมายที่ทุ่มเทและสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าในหลากหลายสาขา และผลงานของพวกเธอยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของโลกในปัจจุบันและอนาคต

 

แหล่งที่มา: Britannica, Royal Society of Chemistry, Never Surrender, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง