ทำความเข้าใจภาษีการรับให้ ใครต้องเสียภาษีบ้าง?
ทำความเข้าใจภาษีการรับให้ ใครต้องเสียภาษีบ้าง?

เมื่อรับทรัพย์สินจากผู้อื่น ทำไมต้องเสียภาษี? มาทำความรู้จักกับภาษีการรับให้และข้อกำหนดต่างๆ ได้ในบทความนี้
(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)
ภาษีการรับให้ หรือ ภาษีการให้ (Gift Tax) คือภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลที่ได้รับทรัพย์สินจากการให้ของบุคคลอื่น เช่น บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น ก่อนที่ผู้ให้จะเสียชีวิต โดยเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ภายใต้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 และ (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2559
หลักการของภาษีการรับให้ในไทย
1. บุคคลที่ต้องเสียภาษี
• ผู้ที่ได้รับทรัพย์สิน (ผู้รับให้) เป็นผู้ที่ต้องเสียภาษี
• ผู้ให้ไม่ต้องเสียภาษีรับให้โดยตรง แต่ในบางกรณีอาจต้องเสียภาษีประเภทอื่น เช่น ภาษีเงินได้จากการขายสินทรัพย์
2. เกณฑ์การเสียภาษี
• คนที่ได้รับทรัพย์สิน เกิน 10 ล้านบาทต่อปี (ถ้าผู้ให้ไม่ใช่พ่อแม่)
• ถ้าเป็นพ่อแม่ให้ลูกโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องเสียภาษีเมื่อรับ เกิน 20 ล้านบาทต่อปี
3. อัตราภาษี
คิดในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่เกินจากเกณฑ์ที่กำหนด
เช่น ได้รับบ้านมูลค่า 15 ล้านบาทจากพี่ชาย → ส่วนที่เกิน 10 ล้าน คือ 5 ล้าน → คิดภาษี 5% ของ 5 ล้าน = ต้องจ่าย 250,000 บาท
4. ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีรับให้
• เงินสด
• อสังหาริมทรัพย์
• หุ้นหรือหลักทรัพย์
• ทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีมูลค่า
กรณีที่ไม่ต้องเสียภาษีการรับให้
• พ่อให้แม่ หรือภรรยาให้สามี (ไม่ต้องเสีย)
• ได้รับเงินจากมูลนิธิหรือวัดที่ได้รับการรับรอง
• ได้รับมรดก (แต่ต้องเสียภาษีมรดกแทน ถ้าเกิน 100 ล้านบาท)
• เงินอัดฉีดที่มอบให้นักกีฬา สต๊าฟโค้ช ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
ภาษีการรับให้ ต้องยื่นแบบฯ ภายในเมื่อใด
• ต้องนำเงินได้ที่เกิดในเดือนมกราคม - มิถุนายน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกันยายนของปีภาษี
• ต้องนำเงินได้ที่เกิดในเดือนมกราคม - ธันวาคม ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
หากยื่นแบบผ่านระบบออนไลน์ E-Filing จะได้รับการขยายเวลายื่นออกไปอีก 8 วัน
TAGS:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
