สืบทอดวิธีทำ"ข้าวต้มลูกโยน"ทำบุญตักบาตรเทโว

สืบทอดวิธีทำ"ข้าวต้มลูกโยน"ทำบุญตักบาตรเทโว

9217 ต.ค. 67 23:21   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

วิถีชาวบ้านชุมชนวัดโคกแคเร่งทำข้าวต้มลูกโยน ร่วมประเพณีลากพระตรัง อยากให้ลูกหลานสืบทอดวัฒนธรรมใต้

(17ต.ค.67) ที่วัดกาญจนบริรักษ์(วัดโคกแค) หมู่ 2 ต.เขาขาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ อบต.เขาขาว ทั้งหญิงชายกว่า 200 คน ได้ชักชวนกันมาเร่งทำ"ข้าวต้มลูกโยน"หรือข้าวต้มสามเหลี่ยม อาหารพื้นบ้านของคนภาคใต้ ถือเป็นขนมอยู่คู่กับประเพณีลากพระ โดยนำไปทำบุญตักบาตร ถวายพระสงฆ์ ในวันออกพรรษา การตักบาตรเทโว แขวนที่เรือพระวัดต่างๆ และแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาทำบุญและร่วมงานประเพณีลากพระในวันออกพรรษา



"ข้าวต้มลูกโยน"เป็นขนมที่ทำจากข้าวสารเหนียว เอามาผัดกับหัวกะทิ น้ำตาล และเกลือ บางครั้งอาจจะใส่ถั่วด้วย เพื่อเพิ่มรสชาติให้ขนมนั้นอร่อยน่ากินมากขึ้น โดยนำมาห่อกับใบกะพ้อให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำไปนึ่งหรือต้ม แต่ละคนต่างแบ่งหน้าที่กัน ทั้งขูดมะพร้าว คั้นน้ำกะทิ ผัดข้าวเหนียว อีกส่วนก็แบ่งกันนำข้าวเหนียวใส่ลงไปในใบกะพ้อ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและสนุกสนาน ทุกคนตั้งใจทำด้วยความศรัทธา



นายเชี่ยว เสนี นายก อบต.เขาขาว กล่าวว่า วันนี้มีชาวบ้านมาช่วยกันทำหลายคน เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานรวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย ปีนี้มีข้าวเหนียว 2 กระสอบ ทำ"ข้าวต้มลูกโยน"ให้ได้ประมาณ 4 พันลูก เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานลากพระในพื้นที่ต่างๆ ประเพณีลากพระตนเห็นตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นนายก อบต.เขาขาว อยากสืบทอดประเพณีวัฒนธรรม ให้ลูกหลานเห็นความสวยงามและสืบทอดประเพณีแทงต้มในวันออกพรรษา



ด้านนางสุภาวดี สุขเจริญ อายุ 33 ปี อาชีพค้าขาย ผู้มาร่วมทำขนม กล่าวถึงความรู้สึกว่า ตนทำขนมต้มลูกโยนทุกปี ในแต่ละปีก่อนหน้านี้ ชาวบ้านแต่ละบ้านจะต่างคนต่างทำและนำมารวมกันในวันออกพรรษา แต่ 2 ปีที่ผ่านมานี้ได้รวมตัวกันทำที่วัดโคกแค บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกและรอยยิ้ม ได้ช่วยกันทำได้เห็นพลังชาวบ้านที่ทำด้วยความศรัทธา อยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาทำขนมต้มลูกโยน ได้ฝึกหัดทำเพื่อสืบสานวัฒนธรรมสืบไป




สำหรับประเพณีลากพระจังหวัดตรัง ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567 จัดตั้งแต่วันที่ 18 - 26 ตุลาคม 2567 ณ ลานเรือพระทุ่งแจ้ง จังหวัดตรัง โดยได้รับการร่วมมือจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะ วัดในจังหวัดตรัง ประกอบด้วย เรือเล็ก จำนวน 54 ลำและเรือใหญ่จำนวน 24 ลำ รวมแล้วทั้งหมด 78 ลำ ซึ่งภายในงานจะได้พบกับความงดงามจากเรือพระ ร่วมสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีลากพระสืบไป ซึ่งกิจกรรมภายในงาน จะมีชาวบ้านจากทุกอำเภอ มาร่วมขบวนจัดแสดงภายในบริเวณงานอีกด้วย ซึ่งในปี 2567 นี้ มีการประกวดเรือพระชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในงานมี ปาฐกถาธรรม ทุกคืนพร้อมกับชมการแสดงจากนักเรียน



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง