ศาล รธน.สั่งฟัน “สมชาย เล่งหลัก” พ้น สว. เหตุถูกเพิกถอนสิทธิฯ เพราะพัวพันซื้อเสียง

ศาล รธน.สั่งฟัน “สมชาย เล่งหลัก” พ้น สว. เหตุถูกเพิกถอนสิทธิฯ เพราะพัวพันซื้อเสียง

53926 มี.ค. 68 16:16   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “สมชาย เล่งหลัก” อดีตผู้สมัคร สส.สงขลา พ้นจากตำแหน่ง สว. หลังจากที่ปลายปีที่แล้วศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี เพราะพัวพันการซื้อเสียง

(26 มี.ค. 68) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังค์ อ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ของนายสมชาย เล่งหลัก สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 111 (4)ประกอบมาตรา 108 ข.ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 38 (5) หรือไม่


สืบเนื่องจากศาลฎีกา มีคำพิพากษาที่ ลต สส 338/2567 ลงวันที่ 23 ก.ย. 2567 พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสมชาย เป็นเวลา 10 นับจากวันที่มีคำพิพากษา จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของนายสมชาย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม รวมทั้ง กกต.ยังขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตำแหน่ง สว.ของนายสมชาย ว่างลงนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย


ทั้งนี้ ศาลรัฐธธรรมนูญ ยังมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2567 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย


ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็น สว. ตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก คือ 10 ก.ค. 2567 ต่อมาวันที่ 23 ก.ย. 2567 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกร้อง 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา สมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตาม มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5)


ประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อสมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามมาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) แล้ว สมาชิกภาพ สว.นับแต่เมื่อใด เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่า สมาชิกผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลมีคำวินิจฉัย


และเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยให้แจ้งประธานแห่งสภาที่รับคำร้อง กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สว.สิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบกิจการก่อนวันพ้นตำแหน่ง


บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว บัญญัติการพ้นตำแหน่งของ สว.ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มิได้ให้อำนาจศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า 11 ธ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะวินิจฉัย


ศาลจึงสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับจากวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นสมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้อง จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 82 วรรคสอง นับแต่ 11 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป


เมื่อสมาชิกภาพ สว.สิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่ง สว.ที่มาจากการเลือกว่างลง ประธานวุฒิสภา ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เลื่อนบุคคลบัญชีสำรอง สว.ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง สว.แทน ตามลำดับ ตาม พ.ร.ป.เลือก สว. มาตรา 45 โดยให้ถือว่า วันที่ตำแหน่ง สว.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแก่ผู้กรณีฟังโดยชอบ


อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สว.ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 110 (4) ประกอบมาตรา 108 ข. ลักษณะต้องห้าม (1) และมาตรา 98 (5) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่คือ 11 ธ.ค. 2567


และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวันอ่านคือ 26 มี.ค. 2568 เป็นวันที่ตำแหน่ง สว.ที่มาจากการเลือกว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.ป.เลือก สว. มาตรา 45


สำหรับคดีของนายสมชาย เล่งหลัก มีที่มาจากเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามที่ กกต.เสนอ คือ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายสมชาย เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากในการเลือกตั้งปี 2566 นายสมชาย ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สงขลา เขต 9 พรรคภูมิใจไทย (ภท.) รู้เห็นสนับสนุนให้มีการแจกเงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจงใจให้ลงคะแนนให้แก่ตน


กกต.จึงเห็นว่า นายสมชาย เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ว. จึงได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ


หลังจากนี้จะมีการเลื่อนบัญชีรายชื่อผู้สมัตร สว.กลุ่มที่ 19 ขึ้นมาแทนตำแหน่งของนายสมชาย โดยผู้ที่เลื่อนขึ้นมาแทนคือ นายธณัชญ์พงศ์ วงศ์มุลาลี สมัคร สว. จากอำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Thailand Web Stat