เข้ม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน สู้ภัย “ลานีญา-ฝนตกหนัก”

เข้ม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน สู้ภัย “ลานีญา-ฝนตกหนัก”

15628 มิ.ย. 67 15:08   |     sureeporn.t

สทนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำ บูรณาการข้อมูลให้มีความแม่นยำ และบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เผยประเทศไทยเข้าสู่ “ลานีญา” แล้ว ฝนเริ่มตกหนักในบางพื้นที่ ภัยแล้งคลี่คลาย มั่นใจเขื่อนขนาดใหญ่จะช่วยตัดยอดน้ำได้จำนวนมาก ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม คาดน้ำปีนี้สมบูรณ์ พร้อมสั่งคุมเข้ม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะลานีญาแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศและปริมาณฝนตกตั้งแต่เดือน มิ.ย.-พ.ย. 67 ว่าจะเริ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5 - 8% ยกเว้นในเดือน ต.ค. 67 ปริมาณฝนตกจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 12% โดยในเดือน ก.ค.-ส.ค. 67 ฝนจะตกหนัก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายขอบของประเทศทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เดือน ก.ย. 67 ฝนจะตกหนักกระจายทั้งประเทศ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ส่วนในช่วงปลายฤดูฝนเดือน ต.ค.-พ.ย. 67 ฝนจะตกหนักมากในภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนนี้ (มิ.ย.67) จะมีร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กําลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก สทนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำปาไหลหลาก บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา นอกจากนี้ในช่วงเดียวกันพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงและฝนตกหนักในพื้นที่ ซึ่ง สทนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนและให้เฝ้าระวังสถานการณ์

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ


“ฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ แม้จะมีพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำปาไหลหลาก แต่ก็จะส่งผลดีต่อพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด เพราะฝนที่ตกลงมาจะช่วยเติมน้ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก นอกจากนี้ สทนช. ได้ติดตามการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยมีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการกำจัดผักตบชวา และขุดลอกคูคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมไปถึงปรับปรุง ซ่อมแซมเครื่องมือวัดปริมาณน้ำที่ชำรุดให้มีความพร้อมใช้งาน ภายในเดือน ก.ค. นี้” นายฐนโรจน์ กล่าว


สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศขณะนี้ (ข้อมูล ณ 25 มิ.ย. 67) มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 39,936 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50 % ของปริมาณการกักเก็บ และสามารถรองรับน้ำไดอีกประมาณ 40,628 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในจำนวนแหล่งเก็บกักน้ำดังกล่าว มีอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนปราณบุรี นอกจากนี้ยังมีเขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำกักเก็บอีกถึง 92 แห่งทั่วประเทศด้วย  

ดังนั้นหากมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยดังกล่าว จะสามารถรองรับมวลน้ำหลากและตัดยอดน้ำได้อีกจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะทำให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ได้คาดการณ์ว่า ถ้าเกิดฝนตกเฉลี่ยหลังจากสิ้นฤดูฝนในวันที่ 1 พ.ย. 67 จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 58,195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ของปริมาณน้ำกักเก็บ ซึ่งมากกว่าปี 2566 ประมาณ 1,809 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก อยู่ที่ 20,667 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2566 ประมาณ 2,886 ล้าน ลบ.ม. และที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) จะมีปริมาณน้ำต้นทุนเต็มความจุรวมทั้งสิ้น 576 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา 65 ล้าน ลบ.ม.


“สทนช.ได้บูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งปริมาณฝน สภาพภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเป็นปัจจุบันมากที่สุด ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงรองรับได้อย่างประสิทธิภาพ รวมทั้งเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์” นายฐนโรจน์ กล่าวในตอนท้าย


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง