"หมอหม่อง"โพสต์ตั้งข้อสังเกตรื้อบ้านพักของอุทยานฯบูโด โครงการนกเงือก

"หมอหม่อง"โพสต์ตั้งข้อสังเกตรื้อบ้านพักของอุทยานฯบูโด โครงการนกเงือก

50101 ก.ย. 67 14:20   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

"หมอหม่อง"โพสต์ตั้งข้อสังเกตรื้อบ้านพักของอุทยานฯบูโด โครงการนกเงือก ตัดพ้อสิ่งที่เขาทุบทำลายมันมากกว่าสิ่งก่อสร้าง อาคารที่ไม่มีชีวิต แต่หัวใจของคนทุ่มเทชีวิตอุทิศตนให้ป่าให้นกเงือกโดนทุบทำลายไปด้วย

(1ก.ย.67) นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ "หมอหม่อง"อาจารย์แพทย์โรคหัวใจและนักอนุรักษ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Rungsrit Kanjanavanit" ระบุว่า เหตุการณ์ รื้อบ้านพักของอุทยานที่เป็นที่พักอาศัยทำงานวิจัยในพื้นที่มาหลายสิบปี ของ ปรีดา จนท.โครงการนกเงือก อย่างเร่งรีบ ที่หลาย ๆ คนพอทราบข่าวมานั้น 


ผมเองได้พูดคุยกับ ปรีดา ตั้งแต่วันเกิดเหตุ แต่ผมยังไม่อยากแสดงความเห็นอะไรต่อสาธารณะจนกว่าทราบรายละเอียดเพียงพอ ทางหัวหน้าอุทยาน ออกมาให้ความเห็นว่า “หน่วยงานลุ่มน้ำปัตตานี (ตั้งขึ้นใหม่) ขอเข้ามาใช้พื้นที่ ทำเรือนเพาะชำต้นไม้และบ้านที่ จนท.ทีมนกเงือกอยู่ปล่อยต้นไม้ให้คลุมบ้านหมด ผอ.ส่วนอุทยาน ไปตรวจ หัวหน้าบูโด ก็โดน ผอ.ว่า ทำไมปล่อย ให้บ้านพักนักท่องเที่ยวเป็นแบบนี้ ”


“มันเป็นบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ทีมนกเงือกมาพักอาศัยหลายปีโดยไม่เสียค่าบริการ และมีการก่อสร้างอาคารไว้เป็นโรงครัวที่มีภาพนกเงือกนานาชนิด และเป็นที่สอนศิลปะให้กับเด็ก ๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตทางอุทยานแต่อย่างใด สำหรับการรื้อถอนอาคารดังกล่าวทีมนกเงือกเป็นผู้รื้อถอนเองทางอุทยานไม่ได้เข้าไปยุ่ง"


ส่วนตัว ผมมีความเห็นดังนี้ ครับ


  1. ข้ออ้างเรื่องการสร้างโรงเพาะชำ สามารถ หาที่เหมาะสมได้ไม่ลำบาก พื้นที่รกร้าง ที่เหมาะสม ยังมีอยู่มากมาย 
  2. หากบ้านไม้ขึ้นรก ดูทรุดโทรม ก็สามารถขอให้ทีมช่วยจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ (จริง ๆ ต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุม นี้ ปรีดา ปลูกเอง เพราะอยากให้มันร่มรื่น กลมกลืน แต่อาจดูรกในสายตาบางท่าน)
  3. ต้องการบ้านพักนี้คืนเพื่อบูรณะให้กลับใช้งานบริการนักท่องเที่ยวก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยไม่มีเหตุต้องเร่งทุบทิ้งแต่อย่างใด 
  4. เรื่องเสียค่าบริการบ้านพัก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา หัวหน้า อุทยานเปลี่ยนมาแล้วหลายท่านสมัย หน.สุธน ก็อนุญาตให้ ทีมอยู่โดยจ่ายค่าเช่าทุกปี ต่อมาบ้านทรุดโทรม หน.สิทธิชัย หมัดสี บอกให้ ทีมนกเงือก ซ่อมเอง และไม่ต้องจ่ายค่าเช่า
  5. ส่วนโรงครัว ที่บอกว่า เป็นอาคารสร้างใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เดิมเป็นที่เผาขยะเก่า ที่ทางคุณปรีดาขออนุญาต หน.สิทธิชัย หมัดสี แล้วว่า จะขอทำครัวและทำทีจัดกิจกรรมสอนเด็ก ๆ ในชุมชนโดยรอบมาวาดภาพ
  6. คำชี้แจงจาก หน.อุทยานว่า การรื้อ อุทยานไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทีมนกเงือก เป็นคนรื้อเอง นั้นเป็นความเท็จ ห่างไกลจากความจริงมาก 


จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่การเร่งรื้อแบบไม่รอให้ผู้อาศัยย้ายของออก สิ่งที่เขาทุบทำลายมันมากกว่า สิ่งก่อสร้าง อาคารที่ไม่มีชีวิต แต่หัวใจของคนทุ่มเทชีวิตอุทิศตนให้ป่าให้นกเงือก รวมถึงความทรงจำ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความผูกพัน ทัศนคติที่ดีของชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่ที่มีต่ออุทยานบูโด 

ได้โดนทุบทำลายไปด้วย 


ภาพที่ปรีดาเพียรวาดบนผนัง เพื่อสื่อสารเรื่องราวนกเงือกให้กับสังคมอาจไร้ค่าในสายตาบางคน แต่การทำลายผลงานศิลปะที่ใครสักคนสร้างขึ้น มันต้องอาศัยหัวใจหยาบกร้านเพียงใด หากใครเคยโดน ครู หรือ เพื่อนเกเร ฉีกภาพวาด หรือรูปปั้นที่เราเพียรสร้างขึ้นมา คงเข้าใจว่า หัวใจจะรู้สึกปวดร้าวเพียงใด ทำให้อดคิดเป็นอย่างอื่นได้ยากไปกว่าทำเพื่อเป้าหมาย ขยี้หัวใจ ผู้รังสรรค์งานนั้นการรื้อถอนแบบเร่งรีบนี้เป็นการปฏิบัติอย่างมืออาชีพ หรือไม่ ขอให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน


การทำงานของอุทยานมีข้อจำกัด ด้านงบประมาณและกำลังคนและงานบางอย่างก็ขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอุทยานแห่งชาติจะทำงานสำเร็จตาม พันธกิจได้จำเป็นต้องประสานความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เมื่อมีคนยื่นมือมาช่วยก็หวังเพียงอำนวยความสะดวกให้เกียรติกับหน่วยงานผู้คนเหล่านั้น 


ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่าน ปรีดา อุทิศตน เพื่อการอนุรักษ์ นกเงือก และป่าบูโด การทำงานพื้นที่ในป่าอันทุรกันดารและต้องทำงานในชุมชนที่วัฒนธรรมที่แตกต่าง

กว่าจะสร้างความไว้ใจกับชุมชนที่มีความโกรธ ความระแวง กับ จนท.ภาครัฐ มันก็ยากเย็นแสนเข็ญอยู่แล้ว 


การออกมาสื่อสารนี้สิ่งที่ผมกังวลที่สุดคือการเกิดผลกระทบกับ ปรีดา และ จนท.โครงการศึกษาวิจัยนกเงือก ไม่อยากให้พวกเขาทำงานในพื้นที่ลำบากไปกว่านี้แต่ผมก็อยากให้สังคมวงกว้างรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและหวังเป็นสูงสุดว่า ความร่วมมือระหว่าง การทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ระหว่าง ภาครัฐและ ภาคประชาชน จะได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง ยิ่ง ๆ ขึ้นไปครับ



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง