“ทวี” ไฟเขียว “แม้วทอล์ค” โชว์วิสัยทัศน์ได้แม้ยังไม่พ้นโทษ

“ทวี” ไฟเขียว “แม้วทอล์ค” โชว์วิสัยทัศน์ได้แม้ยังไม่พ้นโทษ

66213 ส.ค. 67 17:40   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

“ทวี” ไฟเขียว “ทักษิณ” โชว์วิสัยทัศน์ในงานดินเนอร์ทอล์คปลายเดือนนี้ได้ ชี้ที่ผ่านมาก็มีหลายคนที่ไปออกรายการทีวีระหว่างพักโทษ

(13 ส.ค. 67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างการพักโทษและยังไม่ได้ใบบริสุทธิ์มีกำหนดการเตรียมจับไมค์ทอล์คผ่านรายการโทรทัศน์วันที่ 22 ส.ค.นี้  ว่า เรื่องพักโทษเรามีเงื่อนไขหลักๆคือ 1.ต้องไม่ค้ายาเสพติดหรือข้องแวะยาเสพติด 2. ต้องไม่ไปอยู่กับผู้ต้องราชทัณฑ์อื่น และ 3.เดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ ส่วนการเดินทางไปต่างจังหวัดก็ต้องได้รับอนุญาต แต่ส่วนการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่ผ่านมาในอดีตมีผู้ได้รับการพักโทษหลายคนไปออกรายการโทรทัศน์


เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยื่นสอบแพทย์รพ.ตำรวจและกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องที่ให้นายทักษิณ รักษาตัวชั้น 14 นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แถลงข่าวท่านบอกว่ากฏกระทรวงที่ใช้เป็นการละเมิดสิทธิ ขณะที่กรมราชทัณฑ์ยืนยันต้องปฏิบัติตามกฏกระทรวง เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดบอกว่ารัฐต้องให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฏหมายโดยเคร่งครัด ทั้งนี้หากต้องมีการแก้กฏกระทรวงเหมือนแก้กฏหมายลูกก็ต้องไปรับฟังความเห็นของประชาชน


พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ เรามีเรือนจำ 3 แห่ง คือ 1.ตัวเรือนจำ 2.ที่คุมขังอื่น ซึ่งในเจตนา พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯต้องการให้มีที่คุมขังอื่นเพราะไม่เช่นนั้นจะแออัด และ 3.โรงพยาบาลคือเรือนจำ ซึ่งประเด็นปัญหาคือทั้ง 3 ส่วนศักดิ์ศรีคือบุคคลนั้นเสียเสรีภาพและเป็นไปตามกฏเกณฑ์ โดยกรณีของคณะกรรมการสิทธิฯ ขอดูรายละเอียด เราน้อมรับคำวินิจฉัย เพราะทราบว่ามีการร้องเรียนหลายแห่ง อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ยังมีความเห็นต่างจากคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ยืนยันว่าข้าราชการกรมราชทัณฑ์ปฎิบัติหน้าที่ตามปรกติและตามธรรมเนียม เพราะในกฏกระทรวงแบ่งอำนาจชัดเจนเรื่องการรักษาพยาบาลไม่มีใครรู้ดีกว่าหมอ  


เมื่อถามว่ากฏกระทรวงการนำผู้ต้องขังไปรักษาภายนอกเรือนจำ หรือกฏกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กฏกระทรวงที่ใช้ปี 63 ที่ระบุเรื่องการไปรักษา อย่างไรก็ตามตนให้ขอรายงานจากคณะกรรมสิทธิฯมาดู ซึ่งในฐานะกระทรวงยุติธรรมก็ต้องดู เพราะปรกติรายงานต่างๆต้องเข้าครม.ทราบ ถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องแก้กฏกระทรวงก็อาจเชิญคณะกรรมการสิทธิมาหารือ แต่ต้องรับฟังความเห็นประชาชน ทุกอย่างมีเวลาต้องแก้



TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง