4 จว.ภาคอีสาน ป่วย"โรคไข้ฉี่หนู"พุ่ง 81 ราย ดับแล้ว 2

4 จว.ภาคอีสาน ป่วย"โรคไข้ฉี่หนู"พุ่ง 81 ราย ดับแล้ว 2

129111 ส.ค. 67 15:05   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

4 จว.ภาคอีสาน ป่วย"โรคไข้ฉี่หนู"พุ่ง 81 ราย ดับแล้ว 2 ราย เตือนหากมีอาการตามนี้ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน พร้อมระบุประวัติเสี่ยงให้ช

(11ส.ค.67) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีน้ำท่วมขัง หากเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อ"โรคไข้ฉี่หนู"ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งสถานการณ์"โรคไข้ฉี่หนู"ในเขตสุขภาพที่ 9 ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 5 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วย 81 ราย และเสียชีวิต 2 ราย 


เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 


  1. จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 29 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย
  2. จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 21 ราย 
  3. จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 16 ราย 
  4. จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 15 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย  


ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร รับจ้างทั่วไป ปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ ส่วนกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 55 - 64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และ 45-64 ปี ตามลำดับ


ซึ่งผู้ป่วยเป็น"โรคไข้ฉี่หนู"เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เลปโตสไปรา ที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือแอ่งน้ำขัง ดินโคลนที่ชื้นแฉะ เชื้อนี้สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีบาดแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปาก หากลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลนโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน 


ซึ่งหลังจากติดเชื้อประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย และหากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า จะมีอาการไอเป็นเลือด และเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้รวดเร็ว


แต่หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมหรือต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำที่ท่วมขังนาน ๆ โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรสวมรองเท้าบูตและถุงมือยางเมื่อต้องทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำท่วม หรือสัมผัสน้ำที่ท่วมขัง ดินที่ชื้นแฉะ และหลังจากลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำท่วมขังแล้ว ให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที  


โดยหากหลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำท่วมขัง 1-2 สัปดาห์แล้วมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หรือปวดกล้ามเนื้อ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ เพื่อการตรวจรักษาที่รวดเร็วซึ่งช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง