เจอน้ำร้อนลวกอย่าตกใจ ทำตามนี้ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

เจอน้ำร้อนลวกอย่าตกใจ ทำตามนี้ลดความเสี่ยงติดเชื้อ

27510 ก.พ. 68 16:51   |     ข่าวเวิร์คพอยท์

ใครถูกน้ำร้อนลวกอย่าเพิ่งตกใจ รีบปฐมพยาบาลตามนี้ก่อนไปโรงพยาบาล ลดโอกาสติดเชื้อจากบาดแผล

(เรียบเรียงโดย อพัชชา ทองสนิท และ กัญญาณัฐ อาศัย)

อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะแผลน้ำร้อนลวกที่มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในได้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้ เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและมีสติ การรักษาอย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและบรรเทาอาการปวด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลโดยตรง และปรึกษาแพทย์หากแผลรุนแรงหรือมีอาการที่ไม่ดีขึ้น

 

บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แบ่งเป็น 3 ระดับ โดยดูจากดีกรีความลึกของบาดแผล

  1. ดีกรีความลึกระดับ 1 คือ บาดแผลอยู่แค่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยปกติจะหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น
  2. ดีกรีความลึกระดับ 2 คือ บาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังแท้ บาดแผลประเภทนี้ถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความลึกของบาดแผลจากอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดร่องรอยผิดปกติของบริเวณผิวหนัง หรืออาจมีโอกาสเกิดแผลเป็นแผลหดรั้งตามได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
  3. ดีกรีความลึกระดับ 3 คือ ชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายด้วยความร้อน บาดแผลเหล่านี้มักจะไม่หายเอง มีแนวโน้มการติดเชื้อของบาดแผลสูง และมีโอกาสเกิดแผลหดรั้งตามมาสูงมาก ถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง

 

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น


แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า ปากและคอ

  1. ใช้น้ำสะอาดหรือผ้าชุบน้ำวางบริเวณบาดแผล เพื่อลดความ ร้อน เป็นเวลานานอย่างน้อย 10 นาที หรือจนกว่าอาการปวด แสบร้อนจะลดลง
  2. คลายเสื้อผ้าบริเวณรอบคอและหน้าอก เพื่อให้หายใจได้สะดวก
  3. ป้องกันอาการช็อก โดยห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น และยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเล็กน้อย
  4. รีบนำส่งโรงพยาบาล

 

แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณอื่น

  1. ใช้นํ้าสะอาดหรือผ้าชุบน้ำวางบริเวณบาดแผล เพื่อลด ความร้อน เป็นเวลานานอย่างน้อย 10 นาที หรือจนกว่า อาการปวดแสบร้อนจะลดลง
  2. ถอดเครื่องประดับที่ใส่อยู่ เช่น กำไล สายข้อมือ ออก
  3. ปิดหรือพันแผลด้วยผ้าสะอาด
  4. ถ้าเป็นที่มือ หรือเท้า อาจใช้ถุงพลาสติกที่สะอาดหุ้ม
  5. นําส่งโรงพยาบาล

 

ข้อควรระวัง

ห้ามใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นราดแผลเพราะจะขัดขวางการไหลเวียนเลือด ห้ามดึงสิ่งที่ติดแผลออก เพราะอาจทำให้แผลลึกและเลือดออกมากขึ้น ห้ามจับแผลหรือทำให้ตุ่มพุพองแตก เพราะเสี่ยงติดเชื้อ ห้ามทายา โลชัน หรือยาสีฟัน เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อ ห้ามถอดเสื้อผ้า หากจำเป็นให้ตัดออก และห้ามใช้ผ้าที่มีขนหรือสำลีปิดแผล เพราะจะทำให้ขนติดแผล

 

แหล่งอ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

TAGS:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง